ฐานชุมพร เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง ต่างประเทศ

ขยายสนามบินชุมพรรองรับเครื่องระหว่างประเทศเชื่อมโยงท่าเรือสะพานเศรษฐกิจอ่าวไทย-อันดามัน

กรมท่าอากาศยานขยายสนามบินชุมพร รองรับเครื่องระหว่างประเทศ ขนาด 300 ที่นั่ง สนองนโยบายกระทรวงคมนาคน สร้างท่าเรือน้ำลึก เชื่อมสะพานเศรษฐกิจ ทะเลอ่าวไทย-อันดามัน สู่ตลาดโลก

วันที่ 26 เม.ย.65 ว่าที่ร้อยโทสมชาย เรืองจันทร์ ปลัดจังหวัดชุมพร เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การประชุมปฐมนิเทศโครงการ) งานออกแบบขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ท่าอากาศยานชุมพร ในพื้นที่ตำบลชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยมี นายสมเกียรติ มณีสถิตย์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยายด้านเศรษฐกิจ นายอาทิตย์ วินิจสร ผอ.ก่อสร้างและบำรุงรักษา  นายนราธิป ดีแก้ว วิศวกรรมโยธาชำนาญการพิเศษ กองก่อสร้างและบำรุงรักษา และนายอำพร ภัคดี ผอ.ท่าอากาศยานชุมพร พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น วัด และสถานศึกษา ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครวงการ เข้าร่วมรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นที่ห้องประชุมโรงแรมชุมพรการ์เดนส์ ตำบลท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร

สำหรับโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ให้เหมาะกับสภาพปัจจุบัน พร้อมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับผู้โดยสารและสายการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานชุมพร ยังไม่สามารถรับอากาศยานขนาด 300 ที่นั่ง ที่สายการบินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ให้บริการได้ กรมท่าอากาศยาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาท่าอากาศยาน ขยายทางวิ่ง ทางขับ ลาดจอดเครื่องบิน และ องค์ประกอบต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามมาตรฐาน

อีกทั้งเพื่อรองรับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือชุมพรให้เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและ อ่าวไทย (Land bridge) ซึ่งโครงการนี้จะขยายขีดความสามารถการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้สู่เศรษฐกิจโลก

กรมท่าอากาศยาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้เพียงพอต่อความต้องการการใช้สนามบินในอนาคต ซึ่งพบว่า การปรับปรุงขยายความยาวทางวิ่งจากเดิม 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการให้น้อยที่สุด จึงมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมต่อโครงการและรับฟังความคิดเห็น รับฟังความต้องการ สภาพปัญหา ข้อวิตกกังวลและ ข้อเสนอแนะ ของทุกฝ่ายเพื่อการศึกษาโครงการขั้นตอนต่อไป.