สระพระราชทาน ชุมชนบริหารจัดการน้ำอำเภอตามแนวพระราชดำริ สร้างฝาย โรงน้ำดื่ม แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งผลเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 20,000–50,000 บาท
คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนปะทิว อำเภอปะทิว จ.ชุมพร ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ภายใต้เครือข่ายน้ำกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนน้ำอุปโภคบริโภคของอำเภอปะทิว 4 ตำบลได้แก่ ตำบลบางสน ตำบลชุมโค ตำบลทะเลทรัพย์ และตำบลสะพลี มีการส่งเสริมและสนับสนุนต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ
คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนปะทิว หลังการดำเนินงานร่วมกับ สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ส่งผลให้ชุมชนเกิดแนวคิดในการฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซ่อมแซมดูแลรักษาโครงสร้างเดิมในพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ ทำให้การกักเก็บน้ำ การหาน้ำและใช้น้ำ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน
ในส่วนของหน่วยงานที่มีส่วนร่วมกับพื้นที่ดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 4 ตำบล สถานีตำรวจภูธรอำเภอปะทิว ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้ง (สาขาปะทิว) (CPF) สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่อำเภอปะทิว 4 ตำบล มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคตลอดปี ลำห้วยและแหล่งน้ำต่าง ๆ มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี โดยนำเอาฝายชะลอน้ำ ฝายหินก่อ การพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในชุมชน จนเกิดผลสำเร็จเห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ และยังก่อให้เกิดพลังความสามัคคี ความร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชนเอง และระหว่างชุมชน รวมทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนในพื้นที่ เกิดการขยายเครือข่ายไปยังชุมชนใกล้เคียง เกิดการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนเข้าใจปัญหาดิน น้ำ ป่า โดยมีเครื่องมือ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย จนเกิดผลสำเร็จ มีน้ำใช้เพียงพอ และเกิดการอนุรักษ์ ดูแล ป่าต้นน้ำของเราไว้ให้ลูกให้หลานในวันหน้าต่อไป
ในปี พ.ศ. 2559 สร้างฝายชะลอน้ำแบบแกนดินหินก่อตำบลทะเลทรัพย์ 1 แห่ง แปลงทฤษฎีใหม่ชุมชน 1 แปลง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ 1 แห่ง ปี พ.ศ.2560 สร้างฝายชะลอน้ำแบบแกนดินหินก่อตำบลสะพลี 1 แห่ง แปลงทฤษฎีใหม่ชุมชน จำนวน 3 แปลง ปี พ.ศ. 2561 สร้างบล็อกหน้าฝาย เพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งจำนวน 1 แห่ง ในตำบลชุมโคและแปลงทฤษฎีใหม่ชุมชน จำนวน 5 แปลง สนับสนุนโรงน้ำดื่มชุมชนตำบลทะเลทรัพย์ 1 โรง ปี พ.ศ. 2562 สร้างฝายชะลอน้ำแบบแกนดินหินก่อ จำนวนพื้นที่ตำบลบางสน จำนวน 5 ตัว และแปลงทฤษฎีใหม่จำนวน 3 แปลง ปี พ.ศ. 2563 สร้างบล็อกชะลอน้ำจำนวน 2 แห่งในพื้นที่ตำบลสะพลี และตำบลทะเลทรัพย์ และแปลงทฤษฎีใหม่ชุมชนจำนวน 3 แปลง สนับสนุนโรงน้ำดื่มชุมชน จำนวน 2 โรง ในพื้นที่ตำบลบางสน และตำบลสะพลี และจากผลงานที่สร้างให้ชุมชุนเกิดความเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง มีรายได้เลี้ยงครอบครัว จนได้รับรางวัลสระพระราชทาน จำนวน 2 สระ จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2564 ซ่อมฝายและประตูน้ำตำบลบางสน จำนวน 1 แห่ง แปลงทฤษฎีใหม่ชุมชนจำนวน 2 แปลง โรงน้ำดื่มชุมชน จำนวน 2 โรงในพื้นที่ตำบลบางสน และตำบลชุมโค
ในปี พ.ศ.2565 นี้ ทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก เข้ามาร่วมสมทบคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯ (SCB) และในปี พ.ศ. 2565 สร้างฝายชะลอน้ำแบบแกนดินหินก่อตำบลบางสน จำนวน 1 แห่ง โรงน้ำดื่มชุมชนตำบลทะเลทรัพย์ 1 แห่ง ระบบกรองน้ำเพื่อการอุปโภค ประปาหมู่บ้าน จำนวน 2 แห่ง หน่วยงานที่ร่วมสมทบทุนเข้ามูลนิธิฯ ของปีนี้ คือ มูลนิธิบัวหลวง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
นายพิเชษฐ์ ศรีสดใส รองประธานเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนปะทิว นางสาวชิดสุภางค์ ชำนาญ ผู้ประสานงาน/เลขานุการ เครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนปะทิว นายธนเทพ กมศิลป์ คณะกรรมการเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนปะทิว แกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนรวมกันเปิดเผยว่า ขอบเขตพื้นที่ดำเนินงานใน 4 ตำบลคือ ตำบลทะเลทรัพย์ ตำบลชุมโค ตำบลบางสน และตำบลสะพลี ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 59 – 65 ขุดสระน้ำพระราชทานจำนวน 2 สระ สร้างฝายชะลอน้ำ 12 ฝาย โรงน้ำดื่มชุมชน 5 โรง และแปลงทฤษฎีใหม่ 15 แปลง
ภายใต้แผนงานบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่สนับสนุนงบประมาณ โดย มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) (องค์การมหาชน) เป็นการดำเนินงานทฤษฎีใหม่ของชุมชน ตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
“ เป็นการปรับแนวคิดในการทำเกษตรครัวเรือนตามแนวทฤษฎีใหม่ เสริมระบบกระจายน้ำเพื่อลดการใช้น้ำ และเก็บสำรองน้ำในแปลงเพาะปลูก พึ่งพาตนเอง ลดรายจ่ายในครัวเรือนจากบริโภคพืชผักในแปลง ร่วมแบ่งปันและแบ่งขาย จดบันทึกรายรับ – รายจ่าย เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20,000 – 50,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี” นายพิเชษฐ์ ศรีสดใส รองประธานเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนปะทิวกล่าว.