ชุมพรเร่งแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนน เผยเดือนเดียวตาย 10 ศพ บาดเจ็บ 50 ราย สื่อตั้งข้อสังเกตุสร้างซ่อมถนนทำแล้วทำอีกซ้ำซาก
วันที่ 9 ส.ค.65 นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดชุมพร ครั้งที่ 4/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่จังหวัดชุมพร ให้มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ องค์กรภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย เพื่อลดและป้องกันการเกิดอุบัติบนถนนทุกพื้นที่ในจังหวัดชุมพร ณ ห้องประชุมเกาะเสม็ด ศาลากลางจังหวัดชุมพร ชั้น 4
จากการติดตามผลการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรอบเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ปรับปรุงทางม้าลายให้ปลอดภัย การสร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่ เครื่องหมายจราจร ป้ายเตือน สัญลักษณ์, สัญญาณไฟ กล้องวงจรปิด พื้นที่ปรับปรุงภูมิทัศน์ การให้ความรู้ การบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจทุก สภ.ในพื้นที่ได้ดูแลความปลอดภัยบริเวณทางม้าลาย การให้ความรู้ เรื่องกฎจราจร และการใช้รถ-ถนน ให้เกิดความปลอดภัย บริเวณทางข้าม แก่ผู้ถูกคุมประพฤติ และนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่ต่าง
ทั้งนี้สื่อมวลชนได้ให้ข้อสังเกตในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน อาทิ การก่อสร้างถนนบนเส้นทางหลัก สายรอง ที่ทำแล้วทำอีกทำซ้ำซาก การตั้งด่านจับความเร็วที่ทำให้รถติด การควบคุมร้านขายอุปกรณ์แต่งรถจักรยานยนต์ การขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ การควบคุมรถบรรทุก การตั้งร้านขายของริมทางสายหลัก และการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% ที่ยังขาดความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันแก้ไขต่อไป
สำหรับการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงประจำเดือน กรกฎาคม 2565 จังหวัดชุมพมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 52 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 50 ผู้เสียชีวิต 10 ราย สาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุ คือ ขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด และพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุด ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% เมื่อขับขี่จักรยานยนต์ “ด้วยความห่วงใย ขอคนไทยรวมพลังสวมหมวกนิรภัย มุ่งลดเจ็บ ตาย ลดทุกข์บนถนนของสังคมไทยอย่างรวดเร็ว” เน้นให้ผู้นำของทุกองค์กรทุกชุมชนแสดงออกเป็นตัวอย่าง และใช้ทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ socialmedia และสื่อเดิม โดยสื่อส่วนกลางมุ่งสื่อสาร อย่างได้ผลให้สังคมตระหนัก เห็นผลกระทบ จากการบาดเจ็บที่ศีรษะ( Head injury) เหมือนการตระหนักจนต้องมีการสวมแมส 100% เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด ให้ทำกันอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเคยชินต่อการสวมหมวกนิรภัย.