การยางแห่งประเทศไทยหนุนสู่ระดับโลก สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา แปรรูปผลิตภัณฑ์ครบวงจรกว่า 20 ชนิด ใช้ในชีวิตประจำวัน 24 ชั่วโมง
สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 108/ 1 หมู่ 13 ตำบลชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร มีสมาชิกจำนวน 102 คน เป็นเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ รับซื้อน้ำยางพาราจากสมาชิกนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันส่งจำหน่าย ปัจจุบันประสบความสำเร็จในการแปรรูปยางพารา 100 % นำมาต่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรมครบวงจรรวม 21 ชนิด ทั้งอุปกรณ์กีฬา ภาชนะรองแก้ว รองจาน รองเท้า เบาะที่นั่ง ที่นอน หมอน ผ้าห่ม เสาหลักนำทางคมนาคม และอีกหลายขนิด ตามที่ลูกค้าหรือตลาดมีความต้องการ ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดมี มอก. รับรองโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ปแรรูปจากยางพารา สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นางชมพูนุช รักษาวัย ผจก.สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา จำกัด กล่าวว่าสหกรณ์ฯแห่งนี้ก่อตั้งมานาน 25 ปี เริ่มจากรับซื้อน้ำยางพาราจากสมาชิกในพื้นที่มาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดมาตามลำดับจนสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรมออกจำหน่ายมากถึง 21 ชนิด ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันของคนเราตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งที่บ้าน ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงที่ทำงาน สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย โรงแรม รีสอร์ท จนสามารถเรียกได้ว่ายางคือชีวิต ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนทุนและองค์ความรู้จากเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย ที่คอยเป็นพี่เลี้ยงด้วยดีตลอดมา จนเราประสบความสำเร็จสามารถแปรูปผลิตภัณฑ์จากยาพาราออกสู่ตลาดภายในประเทศได้เป็นอย่างดีและเตรียมขยายสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต
นายศุภเมธ พรหมวิเศษ ผอ.การยางแห่งประเทศไทย จ.ชุมพร กล่าวว่าแนวคิดการต่อยอดจากการซื้อน้ำยางพารามาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันขาย ซึ่งเป็นผลกำไรจากชิ้นที่ 1 สามารถที่จะต่อยอดไปสู่ชิ้นที่ 2,3,4,5 และต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ ทำให้กลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการนำน้ำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ครบวงจรสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เด่นที่จำหน่ายขายดีคืออุปกรณ์กีฬา และหมอนกับที่นอน สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา จำกัด ยังได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม ผลิตเสาหลักนำทางเพื่อใช้ในพื้นที่ก่อสร้างถนนตามจังหวัดต่าง ๆอีกด้วย
นายศุภเมธกล่าวว่า ที่ผ่านมาการยางแห่งประเทศไทย นอกจากให้การสนับสนุนเงินกู้ และเงินสนับสนุนอื่น ๆแล้ว ยังเป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยให้ความรู้แก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกร ทั้งการอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน ตลอดจนถึงเรื่องการตลาด ซึ่งในปีนี้ได้สนับสนุนเงินประมาณ 8 แสนบาท ในการผลิตหมอนยางพาราจำนวน 1,600 ใบ เพื่อนำไปมอบให้กับโรงพยาบาล สถานเด็กเล็ก สถานสงเคราะห์คนชรา และสาธารณะกุศลต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.ชุมพร
ผอ.การยางแห่งประเทศไทย จ.ชุมพร กล่าวว่า ถือเป็นผลงานแห่งแรกที่สถาบันเกษตรกรสามารถทำผลิตภัณฑ์แปรรูปอุตสาหกรรมจากยางพาราได้ ซี่งการยางแห่งประเทศไทย ได้ตั้งเป้าไว้ว่าเราจะเป็นองค์กรชั้นนำของโลก ดังนั้นตนคิดว่าจะต้องนับหนึ่งที่จังหวัดชุมพร จากสหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา จำกัด แห่งนี้.