“กลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด” ปลูกกล้วยหอมทองละแม” มานาน 30 ปี จนได้ขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รสชาติอร่อย ส่งไปขาย ประเทศญี่ปุ่น สัปดาห์ละกว่า 10 ตัน
กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI “กล้วยหอมทองละแม” จากกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด อำเภอละแม จ.ชุมพร เป็นรายการที่ 5 ของจังหวัด ปัจจุบันจังหวัดชุมพร มีสินค้า GI มากที่สุดของภาคใต้ ได้แก่ กล้วยเล็บมือนางชุมพร ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร กาแฟเขาทะลุชุมพร กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร และกล้วยหอมทองละแมชุมพร
กล้วยหอมทองละแม จังหวัดชุมพร ได้รับการขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นรายการที่ 5 ของจังหวัด กล้วยหอมทองละแม เป็นพันธุ์กล้วยหอม ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอละแม จังหวัดชุมพร มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น คือเมื่อสุกแล้ว จะมีน้ำในผลน้อย รสชาติหวานหอม อมเปรี้ยวเล็กน้อย มีผลขนาดกลางถึงใหญ่ เนื้อแน่น หน้าตัดเหลี่ยม ขั้วเหนียว กล้วยหอมทองละแม เป็นสินค้าเกษตรของไทย ส่งไปขายในประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชในท้องถิ่น ปีละกว่า 6 ล้านบาท
นายสำรวม ใจเปี่ยม ประธานกลุ่ม เกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกกล้วยหอมทองละแมที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สินค้า GI รายการที่ 5 ของจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่ากลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด ได้รวมกลุ่มกัน ทำการผลิตกล้วยหอมทอง ปลอดสารเคมี เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยรวบรวมกลุ่มผู้ที่สนใจผลิตกล้วยหอมทองปลอดสารเคมี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนถึงปัจจุบันนาน 30 ปี มีที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งคาวัด อ.ละแม จ.ชุมพร
จากอดีตเริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 30 คน ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มมากกว่า 300 คน มีการปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารเคมี หมุนเวียนกันนำมาส่งให้กับกลุ่มอย่างต่อเนื่อง สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัดที่ปลูกกล้วยหอมทอง ทุกสวนจะต้องปลอดสารเคมี 100 % โดยจะมีเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบผลผลิตทุกสวน พร้อมให้คำแนะนำ จึงยืนยันได้ว่าปลอดสารเคมีอย่างแน่นอน
ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากกรมส่งเสริมการเกษตร สร้างอาคาร บรรุจุหีบห่อ จัดซื้อเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ ในงานบรรจุกล่อง ผลผลิตส่วนใหญ่ ส่งไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นหลัก เนื่องจากเป็นประเทศที่ มีประชากร บริโภคกล้วยหอมทองจำนวนมาก
ส่วนเรื่องราคานั้นทางกลุ่มจะมีการกำหนดราคารับซื้อจากสมาชิกไว้เป็น 3 ช่วงต่อปี คือกิโลกรัม 13 บาท 14 บาท และ 18 บาท โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนราคาจะสูงกิโลกรัมละ 18 บาท เนื่องจากเกษตร ต้องลงทุนสูง เกี่ยวกับระบบการให้น้ำ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สำหรับระยะเวลาในการปลูกกล้วยหอมทองจนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้ ระยะเวลาราว 10 เดือน
ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัดกล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีการส่งออกกล้วยหอมทองละแม ปลอดสารเคมีให้กับประเทศญี่ปุ่น สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 10 ตัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต่อความต้องการ เนื่องจากผู้บริโภค ในประเทศญี่ปุ่น ยังมีความต้องการมาก
ปัจจุบันกล้วยหอมทองละแม กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ซึ่งเป็นข้อดี และเป็นการสร้าง มูลค่าเพิ่ม ให้กับผลผลิต เพราะจะสร้างความเชื่อมั่น ในแหล่งต้นกำเนิด กล้วยหอมทองละแม ได้เป็นอย่างดีว่าเป็นพันธุ์กล้วยหอมทองที่ปลูกในพื้นที่อำเภอละแม จ.ชุมพร จะมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น คือ เมื่อสุกจะมีน้ำในผลน้อย รสชาติหวานหอม อมเปรี้ยวเล็กน้อย มีผลขนาดกลาง ถึงใหญ่ เนื้อแน่น เป็นสินค้าเกษตรของประทศไทย ที่มีรสชาติ ความอร่อยเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ในประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ ให้กับท้องถิ่นในอำเภอละแม ปีละกว่า 6 ล้านบาท.