เจ้าของอู่สงสัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รู้ข้อมูลประกอบธุรกิจจริงได้อย่างไร หลอกจนหลงกลถูกดูดเงินสูญกว่าล้านบาทโวยธนาคารทำงานช้าเข้าถึงยาก
เจ้าของอู่รถถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกอ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ขอตรวจสอบฐานข้อมูล ครั้งแรกไม่เชื่อเมื่อสอบถามกลับไปรู้ข้อมูลถูกต้องทุกอย่างจึงหลงเชื่อ เลยสูญเงินไปกว่า 1.5 ล้านบาท ตำหนิธนาคารทำงานช้าเข้าถึงยากแนะพัฒนาใช้ระบบสแกนใบหน้าจะป้องกันได้ โดยกรณีดังกล่าวผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 จากนายวีรพันธ์ พรหมเทพ อายุ 42 ปี บ้านอยู่ตำบลหงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เพื่อเป็นอุทาหรณ์และตำหนิธนาคารที่ติดต่อป้องกันปัญหาล่าช้าจนต้องสูญเงินไปนับล้านบาทว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม2565 ที่ผ่านมา ขณะที่ตนเองกำลังทำงานอยู่ที่ร้านซึ่งเปิดธุรกิจสามประเภทคือ อู่ซ่อมสีรถยนต์ สถานบริการตรวจสภาพรถเอกชน หรือ ตรอ. และร้านจำหน่ายยางรถยนต์ครบวงจร ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายเพชรเกษม-เนิน 491 ซึ่งได้มีโทรศัพท์โทรเข้ามาตนเองก็รับสายเพราะคิดว่าเป็นลูกค้า แต่เมื่อรับทางคู่สายได้บอกว่าโทรมาจากระทรวงพาณิชย์ ต้องการตรวจสอบผู้ประกอบการเพื่ออัพเดตฐานข้อมูล
จากนั้นได้มีการพูดคุยกับตนเองในเรื่องของธุรกิจที่ตนเองทำอยู่ว่ายังคงทำธุรกิจเป็น ตรอ. เป็นร้านซ่อมรถอยู่หรือไม่ ซึ่งตนเองกลัวว่าจะเป็นมิจฉาชีพเนื่องจากมีข่าวให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ก็ได้มีการสอบถามข้อมูลกับทางมิจฉาชีพที่โทรเข้ามา โดยมิจฉาชีพก็สามารถตอบข้อมูลของตนเองได้ถูกต้องครบถ้วน โดยระยะเวลาที่มีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ประมาณ 5-10 นาที ตนเองจึงได้แจ้งไปว่าให้โทรมาช่วงบ่ายเพราะในขณะนี้ตนเองกำลังติดลูกค้าไม่สะดวกคุย
นายวีรพันธ์กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นมิจฉาชีพได้เพิ่มเพื่อนจากแอพพลิเคชันไลน์ เข้ามาพูดคุยพร้อมส่งข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลของบริษัทเข้ามาให้ตรวจสอบว่าข้อมูลนั้นถูกต้องหรือไม่เพื่อต้องอัพเดทข้อมูลของบริษัทใหม่ ซึ่งข้อมูลที่มิจฉาชีพส่งมาให้ดูผ่านช่องทางไลน์นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องทุกอย่าง หลังจากนั้นตนเองก็ได้ตอบกลับไปทางช่องทางไลน์ว่าถูกต้องครับ ต่อมามิจฉาชีพได้ส่งเป็นลิงค์ของกระทรวงพาณิชย์ มีโลโก้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน หลังจากที่มิจฉาชีพส่งเข้ามาตนเองก็กดลิงค์ทันที หลังจากนั้นหน้าจอโทรศัพท์ก็กลายเป็นสีดำ และมีตัวเลขวิ่งอยู่ที่หน้าจอ ในขณะนั้นตนเองก็มั่นใจแล้วว่าตนเองโดนแฮกข้อมูลและถูกดูดเงินออกจากบัญชีอย่างแน่นอน เพราะมีข้อความเข้าในโทรศัพท์อีกเครื่องว่ามีการโอนเงินออกจากบัญชีถึง 3 ครั้ง
โดยยอดแรกนั้นได้โอนเงินออกจากบัญชีธนาคารกสิกรไทยชื่อบัญชีนายวีรพันธ์ พรหมเทพ หมายเลขบัญชี 410-2-30451-4 ถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชี น.ส.สุพรรณนา บุญเงิน หมายเลข 146-1-36365-9 เป็นจำนวนเงิน 1,400,000 บาท เวลา 14.05 น. ครั้งที่ 2 ได้มีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทยชื่อบัญชีนายวีรพันธ์ พรหมเทพ หมายเลขบัญชี 410-2-30451-4 ถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี น.ส.ศิริวรรณ เพชรรัตน์ หมายเลข 660-8-81443-7 จำนวน 89,000 บาท เวลา 14.07 น. และในครั้งที่ 3 ได้มีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทยชื่อบัญชีนายวีรพันธ์ พรหมเทพ หมายเลขบัญชี 410-2-15867-5 ถูกโอนไปยังบัญชีพร้อมเพย์ ชื่อบัญชี น.ส.สุพรรณษา บุญเงิน หมายเลข 061-537-3523 จำนวนเงิน 47,355 บาท เวลา 14.09 น. โดยแต่ละบัญชีใช้ระยะเวลาห่างกัน 2 นาที
นายวีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ตนเองรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมพวกมิจฉาชีพพวกนี้ จึงรู้ข้อมูลของตนได้อย่างละเอียด แม้จะถามอะไรไปก็ตอบได้ถูกต้องหมดทุกอย่าง แล้วเมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่ให้ตนเองหลงเชื่อได้อย่างไร ซึ่งตนมองว่า ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในระบบของกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น แต่พวกนี้เอามาได้อย่างไร จึงทำให้ตนหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง ซึ่งความสูญเสียในครั้งนี้เป็นเงินจำนวนมาก ไม่รู้จะเรียกร้องจากใครได้ ไม่ว่าทางธนาคารที่ยุ่งยาก กว่าจะโทรไปอายัติก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง ซ้ำเมื่อแจ้งให้ช่วยอายัติก็ยังไม่สามารถทำได้ต้องให้ไปแจ้งความกับทางตำรวจเท่านั้นถึงจะดำเนินการได้ ส่วนคดีทางตำรวจก็ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย
นายวีรพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าตนเองก็อยากจะฝากเตือนประชาชนทุกคนให้ระวังอย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ แม้ตนเองยอมรับว่าระมัดระวังที่สุดแล้ว ก็ยังหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจนสูญเงินนับล้านบาท และอยากจะฝากถึงทางธนาคาร น่าจะมีการปรับปรุงระบบการป้องกันให้เท่าทันมิจฉาชีพพวกนี้ อย่างเช่นการโอนเงิน ควรจะใช้ระบบสแกนใบหน้าให้ใช้เป็นภาพเคลื่อนไหว และไม่ใช่ภาพนิ่ง เพราะเชื่อว่าจะป้องกันได้ และในเบื้องต้นขณะนี้ตนเอง ป้องกันด้วยการซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ ที่ใช้เฉพาะแอพธนาคารเพื่อใช้เกี่ยวกับธุรกรรมเท่านั้น ไม่โหลดลิงค์ ไม่โหลดไลน์ หรือไม่ใช้เฟซบุ๊คและไม่ใช้อินเตอร์ระบบไวไฟแต่อย่างใด และปิดเครื่องเมื่อไม่ใช้และเปิดเมื่อจะโอนทำธุรกรรมเท่านั้น.