ข่าวเด่น ท่องเที่ยว กีฬา เศรษฐกิจ การเมือง ต่างประเทศ

รถไฟEVต้นแบบคันแรกของไทย

รถไฟ EV ต้นแบบคันแรกของไทย ดังไกลถึงอาเซียน “แห่ชื่นชม” ร่วมแชร์เรื่องราวแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 

การรถไฟฯ เดินหน้าเร่งทดสอบเดินรถจนมั่นใจ ปลอดภัย ก่อนนำมาใช้บริการจริง ลากขบวนโดยสารเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เตรียมจัดหาอีก 50 คัน ลดมลพิษ ยกระดับการให้บริการประชาชนภายในปี 66

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จัดทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปรากฏว่า นอกจากจะได้รับความสนใจ และเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนคนไทยแล้ว รถจักรคันดังกล่าวยังโด่งดังไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ที่มีการแชร์เรื่องราวของรถจักรพลังงานไฟฟ้า ลงในกลุ่มเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศของเวียดนาม ซึ่งมีการแสดงความชื่นชมยินดีกับประเทศไทย และพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย

นอกจากนี้ยังมีชาวเวียดนามบางคน มาช่วยเพิ่มเติมข้อมูล และตอบคำถามในบางประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยกัน อาทิเช่น ทำไมถึงต้องใช้รถไฟแบตเตอรี่ ซึ่งประเด็นนี้นอกจากจะใช้แบตเตอรี่ เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดโดยการยกระดับขนส่งโดยสารของเมือง และรองรับการใช้งานในระบบรถไฟฟ้ารางเบา Light Rail Transit (LRT) ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามมีหลายคนยังเห็นด้วยว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการจะเริ่มต้นจากศูนย์ ทำเพียงคนเดียวอาจเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นมาได้แล้ว เทคโนโลยีนี้ก็จะอยู่กับประเทศไทยตลอดไป

สำหรับรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ประเทศไทยสามารถประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้เสร็จเมื่อปี 2565 เป็นแห่งแรกของโลก ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle :EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573

ปัจจุบันรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ได้ดำเนินการทดสอบเดินรถในเส้นทางต่างๆ แล้ว รวมถึงการทดสอบลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งหลังจากนี้การรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป โดยในระยะแรกจะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 ซึ่งจากผลการทดสอบ ของการรถไฟฯ สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ  1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ  1 ชั่วโมง  

จากนั้นในระยะต่อไปจะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30 – 50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100 – 200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น  เพื่อทดสอบจนเกิดความมั่นใจและปลอดภัย อย่างไรก็ตามรถจักรคันดังกล่าว มีความเร็งสูงสุดที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากลากตู้สินค้าจะใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากลากตู้โดยสารจะใช้ความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง จะมีสมรรถนะในการลากจูงระยะทาง 300 กิโลเมตร ลากตู้สินค้าน้ำหนักประมาณ 2,500 ตันได้ และตู้โดยสาร ลากได้น้ำหนักไม่เกิน 650 ตัน

การรถไฟฯ มั่นใจว่ารถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการรถไฟไทย ช่วยยกระดับการเดินทาง และการขนส่งทางราง ให้เป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ เป็นระบบรางไร้มลพิษ ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนขนส่งไทย ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนชาวไทย จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะได้รับการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่มีความสั่นสะเทือนน้อยลง มีความสะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เปิดโลกอนาคตของรถไฟยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการจัดหารถจักร EV อีกประมาณ 50 คัน ทยอยมาให้บริการประชาชนภายในปี 66 ตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟแก่ประชาชน ลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งหัวรถจักร EV สามารถลดต้นทุนได้ 40-60% หากเทียบกับการหัวรถจักรดีเซลในปัจจุบัน