ปัญหาบ้านนกนางแอ่น ใครต้องรับผิดชอบ โดย…แมลงวันหัวเขียว.
ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับผู้ประกอบการบ้านนกนางแอ่นในชุมชนเขตเทศบาลตำบลมาบอำมฤต อ.ปะทิว จ.ชุมพร มีมานานกว่า 2 ปี แม้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปแก้ไขและดำเนินการทางกฎหมาย
แต่ปัญหายังไม่มีข้อยุติ
ทุกวันนี้นกนางแอ่นนับแสนตัวที่บินวนเวียนอยู่บนท้องฟ้าเหนือหลังคาที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในเขตชุมชนเทศบาลตำบลมาบอำมฤต ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านอยู่ทุกวัน ชาวบ้าน เด็ก คนแก่ ที่อยู่ใกล้บ้านรังนก เป็นโรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ ไอจาม ตาบวม สิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า เปรอะเปื้อนไปด้วยมูลนก แม้แต่อากาศที่หายใจเข้าออกทุกๆวินาทีก็กลายเป็นมลพิษ อันเกิดจากนกนางแอ่นนับแสนตัว
ทั้งกลิ่น เสียง มูล ตัวไร ฝุ่นละออง
กว่า 2 ปีที่ชาวบ้านร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอปะทิว และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการทางปกครองจากเบาไปหาหนัก ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535
แต่ก็ไม่ได้ผล
หากมองในข้อเท็จจริงแล้ว บ้านนกนางแอ่นกินรังเริ่มตั้งแต่การก่อสร้างอาคารหรือต่อเติมดัดแปลงเพื่อเลี้ยงนกนางแอ่นก็ถือว่าผิดกฎหมายอยู่แล้ว โดยเฉพาะตัวนกนางแอ่น รังนกนางแอ่น รวมถึงการซื้อขายรังนกนางแอ่นบ้าน สิ่งเหล่านี้ใครครอบครองถือว่า
ผิดกฎหมายทั้งหมด
ที่สำคัญการซื้อขายหรือค้าขายรังนกนางแอ่นบ้านทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ในขณะนี้
ได้เสียภาษีหรือไม่
ครั้งล่าสุด นายธนนท์ พรรพีพาส นายอำเภอปะทิว ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องงคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข ปศุสัตว์ เข้าไปจัดการกับผู้ประกอบการ
บ้านนกนางแอ่น
เนื่องจากรังของนกนางแอ่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 862 จึงมีความผิดในข้อหามีไว้ในความครอบครองซึ่งรังของสัตว์คุ้มครองฝ่าฝืนมาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จนนายอำเภอปะทิว กับพวกถูกเจ้าของบ้านรังนกแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็ถือเป็นเรื่องปกติและสิทธิของผู้สูญเสียจะปกป้อง
ผลประโยชน์ตนเอง
แม้หน่วยงานเกี่ยวข้องจะดำเนินการทางกฎหมายไปแล้วแต่วันนี้ปัญหายังยืดเยื้อคาราคาซัง ความเดือดร้อนของชาวบ้านและผลกระทบจากมลพิษดังกล่าว
ยังเหมือนเดิม
ถึงแม้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการทางกฎหมายไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนหรืออาจจะเรียกได้ว่า “หมดปัญญา” เกี่ยวกับการย้ายนกนางแอ่นออกไปจากบ้านรังนกในเขตชุมชน ขณะที่ผู้ประกอบการก็ยังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์
เหมือนเดิม
บ้านนกนางแอ่นก็ยังอยู่เหมือนเดิม นกนับแสนตัวก็ยังบินวนเวียนอยู่เหนือท้องฟ้าในเขตชุมชนเทศบาลมาบอำมฤตเช่นเดิม ปัญหา เสียง กลิ่น มูล ตัวไร ฝุ่นละอองมลพิษทางอากาศ ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพราะเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจัดการกับปัญหาไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ตามอำนาจหน้าที่
ชาวบ้านยังต้องรับกรรมเหมือนเดิม
อีกทั้งการตีความข้อกฎหมายของผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายแหล่ก็เอื้อไปทางนายทุนผู้ประกอบการ โดยไม่ได้มองไปที่ข้อเท็จจริงของการสร้างบ้านนกนางแอ่นนั้นว่า
สร้างเพื่อเจตนาอันใด
เจตนาก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า การก่อสร้าง ต่อเติมดัดแปลงอาคาร ใช้เสียงล่อ ทำช่องเข้าออก ภายในอาคารปรับสภาพอากาศอุณหภูมิ ปิดแสงให้มืดสนิทเหมือนอยู่ในถ้ำ ซึ่งมนุษย์ทั่วไปไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ โดยใช้เทคนิคต่างๆอีกมากมายเพื่อล่อให้นกนางแอ่นเข้ามาทำรังนั้นภายในบ้านหลังนั้นๆซึ่งก็ถือว่ามีเจตนาที่จะ
ครอบครอบเก็บรังนกขายอยู่แล้ว
ทั้งที่ชาวบ้านเป็นฝ่ายถูกกระทำได้รับผลกระทบมีความเดือดร้อนต้องเสียเงินรักษาสุขภาพ ขณะที่ผู้ประกอบการซึ่งกระทำผิดกฎหมายกลับได้รับผลประโยชน์
ปีละหลายล้านบาท
เมื่อการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุค่อนข้างยุ่งยากลำบาก ดังนั้นจึงต้องย้อนกลับไปมองที่ต้นเหตุของปัญหาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เจ้าพนักงานท้องถิ่นคือเทศบาลตำบลมาบอำมฤต ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงเพื่อเลี้ยงนกนางแอ่นซึ่งเป็นสัตว์ปีกในเขตชุมชนหรือไม่ ทั้งๆที่เห็นกันอยู่ทนโท่ อันขัดต่อ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ร.บ.การสาธารณสุข และยังมีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนเป็นประจำทุกๆปีอีกด้วย จึงถือว่าเข้าข่ายในการ
ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
การสร้างบ้านนกนางแอ่นจากเดิมมีเพียงไม่กี่หลัง ปัจจุบันมีมากถึง 21 หลัง และกำลังก่อสร้างอีก 10 หลังในเขตชุมชนเทศบาลตำบลมาบอำมฤต บ้านนกที่สร้างเพิ่มมากขึ้น จำนวนตัวนกที่ขยายพันธุ์เพิ่มทวีคูณขึ้นเป็นหลายแสนตัวภายในไม่กี่ปี จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน
อย่างรุนแรง
การปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับผู้ประกอบการบ้านนกนางแอ่นมานานหลายปี ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องจะต้อง
รับผิดชอบด้วยหรือไม่
โดย … แมลงวันหัวเขียว