กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนมาตรฐาน GAP เพชรบุรี-ราชบุรี ศึกษาดูงานทำข้อตกลงกับโรงงานแปรรูปโคเนื้อชุมพร ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้โครงการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตเนื้อโคฮาลาลศรีวิชัยคุณภาพดีเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออก
วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2566 โรงแปรรูปโคเนื้อ ถนนเพชรเกษม อ.ท่าแซะ ตำบลสลุย จ.ชุมพร นายเชิดพงษ์ จันจะนะ ได้นำคณะกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนมาตรฐาน GAP จากจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี เดินทางมาศึกษาดูงาน และทำข้อตกลงกับ โรงงานแปรรูปโคเนื้อจังหวัดชุมพร
คณะผู้เลี้ยงโคได้รับการประสานงานจากจังหวัดชุมพร และได้รับการต้อนรับจากทางผู้บริหารโรงงานพาเยี่ยมชมเป็นอย่างดี และท้ายสุดได้มีการเจรจาตกลงหารือร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทาน supply chain เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเนื้อโคฮาลาลคุณภาพดีเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออกกันต่อไป
ด้วยบริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตและแปรรูปเนื้อโคฮาลาล เป็นผู้ได้สัมปทานโรงงานแปรรูปโคฮาลาล โคศรีวิชัยเพื่อการส่งออกจังหวัดชุมพร สิทธิการเช่า 30 ปี จากกรมธนารักษ์ โรงงานถูกออกแบบและจัดสร้างตามมาตรฐานสากลโดยกรมปศุสัตว์ ด้วยงบประมาณ กว่า 200 ล้านบาท ตั้งอยู่บนที่ดินกว่า 50 ไร่ ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)
บริษัท ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมโคเนื้อแบบครบวงจร มีกำลังการผลิตและแปรรูปเนื้อโค ได้ถึงวันละ 200 ตัว มีศักยภาพและกำลังการผลิตสูงสุดในอาเซียน โรงงานก่อสร้างเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้โดยภาครัฐ มีวิศวกรชาวยุโรปเป็นผู้ร่วมออกแบบและควบคุมการก่อสร้างให้มีมาตรฐานระดับโลก ปัจจุบันบริษัทฯ ได้เข้ามารับสัมปทานและกำลังเร่งดำเนินการปรับปรุงโรงงาน เพื่อให้พร้อมสำหรับการแปรรูปโค โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566
จากการคาดการณ์ในช่วงแรก อาจเกิดปัญหาโคต้นน้ำในการแปรรูปเนื้อไม่เพียงพอ เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในจังหวัดชุมพรยังมีจำนวนน้อย ไม่สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงาน หากภาครัฐและภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุนและส่งเสริม
การเลี้ยงโคขุนในจังหวัดชุมพรและใกล้เคียงให้มีจำนวนมากขึ้น จัดทำเป็นแผนพัฒนาจังหวัดและดำเนินการอย่างเป็นระบบ ก็จะช่วยส่งเสริมศักยภาพการผลิตของโรงงาน ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร และยังช่วยเพิ่มยอด GPP ของจังหวัดชุมพรให้สูงขึ้น
อีกทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเป็น 1 ใน 13 หมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ภาคการผลิตเป้าหมายการแปรรูปด้านการเกษตรคุณภาพสูง อีกด้วย