ผู้ว่าฯเต้นสั่งดำเนินคดีต่อบริษัทเดินเรือเฟอร์รี่น้ำมันรั่วไหลลอยเต็มอ่าว ส่งผลกระทบต่อชายหาดแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม พร้อมเตรียมฟ้องศาลเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง
จากกรณีเกิดเหตุเรือโดยสารข้ามฟากระหว่างอำเภอดอนสักไปยังอำเภอเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ของบริษัทราชาเฟอรี่ จมที่หน้าท่าเรือฝั่งดอนสักแบบตะแคงข้างกราบขวาของเรือ โดยเรือลำดังกล่าว ชื่อราชา 10 หมายเลขทะเบียนเรือ 590002932 เป็นประเภทเรือ เรือเดินทะเลเฉพาะเขต ใช้บรรทุกคนโดยสารและยานพาหนะ ขนาด 2005 ตันกรอส ขณะเกิดเหตุคลื่นลมแรงคาดว่าถูกคลื่นซัดเรือชนกับของแข็งใต้น้ำ หน้าท่าเรือ โดยขณะนั้นระดับน้ำหน้าท่าลึกประมาณ 5-6 เมตร ช่วงเกิดเหตุไม่มีผู้โดยสารอยู่บนเรือจึงทำให้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใดนั้น
ล่าสุดg,njvวันที่ 17เม.ย.66 พบคราบน้ำมันลอยอยู่บริเวณชายหาดและโขดหินหาดนางกำ จำนวนมากส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเดินทางกลับ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ15.00น.นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับนายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา ผอ.ปภ.เขต11,ปภ.จังหวัด,นายวิชัย สมรูป ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4,เจ้าท่าสาขาสุราษฎร์ธานี นายจักรกฤษณ์ ฝั่งชลจิตร์ นายอำเภอดอนสัก พร้อมพนักงานสอบสวน สภ.ดอนสัก ลงพื้นที่ตรวจสอบคราบน้ำมันสีดำเป็นแนวยาวตลอดแนวชายหาดนางกำยาวกว่า 2 กิโลเมตร
โดยคราบน้ำมันดังกล่าวมาจากเรือของ บ.เดินเรือเฟอร์รี่ ที่เกิดอุบัติเหตุทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมันเตารั่วไหลลงสู่ทะเลและถูกคลื่นลมซัดมาเกยชายฝั่งสั่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้นำรถตักเจซีบีและรถไถ ไถคราดตักเอาทรายติดคราบน้ำมันออกไปทิ้งในจุดปลอดภัย พร้อมใช้สารไบโอหรือสารกำจัดคราบน้ำมันชีวภาพผสมกับน้ำฉีดสะลายคราบน้ำมันบริเวณโขดหิน
นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าได้กำชับให้ขจัดคราบน้ำมันให้หมดโดยเร็วในวันนี้ หากทิ้งข้ามวันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกไปเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งการดำเนินการวันนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนและส่วนท้องถิ่นที่ออกมาร่วมด้วยช่วยกัน ในด้านการดำเนินคดีได้สั่งการให้เจ้าท่าจังหวัดรวบรวมพยานหลักฐานเข้าแจ้ง ความดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้บริหารบริษัทราชาเฟอร์รี่และดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป
ขณะที่ นายวิชัย สมรูป ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 4 กล่าวว่าในส่วนของ ทช.ต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคราบน้ำมันที่อาจส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ และต่อสัตว์น้ำ ปะการัง หญ้าทะเล รวมทั้ง โลมา ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จำนวนหลายสายพันธุ์ และหากพบว่ามีสัตว์ทะเลตาย ก็จะเอาสัตว์มาผ่าพิสูจน์ถ้าพบว่าตายจากคราบน้ำมันเป็นสาเหตุก็จะเข้าข่ายความผิด ตาม พรบ.ทช.2558 โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ