ชุมพรรับฟังการชี้แจงผลกระทบ-ผลประโยชน์ โครงการพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงขนส่งระบบรางฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน
วันที่ 7 มิ.ย.66 นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานการประชุมและรับฟังการชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นของโครงการพัฒนาท่าเรือชุมพร บริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยมี นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พร้อมด้วยคณะบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ร่วมให้ข้อมูลการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ของโครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Mode) โครงการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องเกาะพิทักษ์ ศาลากลางจังหวัดชุมพร
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รอง ผอ.สนข. กล่าวว่า สำนักงานและแผนการขนส่ง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยให้เร่งพลักดันแผนงาน เบื้องต้น ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือระนอง โครงการระบบรถไฟทางคู่ และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อผลิกโฉมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ พร้อมนี้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ที่ให้เร่งรัดดำเนินการออกแบบและก่อสร้างระบบโลจิสติกส์จากสถานีรถไฟชุมพร เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกระนอง
“กระทรวงคมนาคมจึงเห็นควรให้มีการศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทนสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมดลการพัฒนาการลงทุน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่าง อ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งที่ตั้งโครงการ เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก ลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง หลีกเลี่ยงปัญหาการตัดขัดของช่องแคนมะละกา และมีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น”
“สำหรับพื้นที่ศึกษาของโครงการ ได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการโดยพิจารณาจากลักษณะและขอบเขตของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ โดยครอบคลุมพื้นที่ศึกษาในระยะ 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการ ประกอบด้วยพื้นที่บางส่วนของอำเภอหลังสวน ตำบลบางน้ำจืด 13 หมู่บ้าน ตำบลปากน้ำ 4 หมู่บ้าน และ 1 หมู่บ้านตำบลปากตะโก อำเภอทุ่งตะโก ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีการถมที่ดินในทะเลที่มีขนาดตั้งแต่ 300 ไร่ ขึ้นไป และท่าเทียบเรือ มีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป มีพื้นที่หน้าท่าตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป และมีการขุดลอกร่องน้ำตั้งแต่ 100,000 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ทำให้ผลกระทบเบื้องต้น ที่อาจเกิดขึ้นสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ วิถีชีวิตของคนในพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาโครงการ เช่น ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง เหตุเดือดร้อนรำคาญที่เกิดจากแรงงานต่างถิ่น ต่างด้าว ที่อาจจะเข้ามาในพื้นที่ และผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เช่น การแพร่ระบาดของโรคที่มาจากคนต่างถิ่น เป็นต้น”
“ส่วนประโยชน์ของการพัฒนาโครงการ สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น เช่น การเกิดการจ้างงานในพื้นที่ กระจายรายได้ไปยังผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ ประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ เกิดการสะดวกสบายในการเดินทาง การขนส่งสินค้า และการกระจายสินค้า เกิดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคระบบคมนาคมจนส่ง และเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและส่งออกไปยังลูกค้าต่างประเทศ เป็นต้น”นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รอง ผอ.สนข.กล่าว
โตโยต้าชุมพร https://www.facebook.com/toyotachumphon/?mibextid=ZbWKwL
ฮอนด้าชุมพร https://www.facebook.com/hondachumphon?mibextid=ZbWKwL