จุดลงตัวแหลมริ่ว-อ่าวอ่าง ท่าเรือชุมพร-ระนอง เชื่อมอ่าวไทยอันดามัน ผุดแพกเกจ กว่า 5 แสนล้าน มอเตอร์เวย์ รถไฟ
สนข.ดันแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ พร้อมชง ครม.ใหม่ลงทุน 1 ล้านล้านบาทเดินหน้าศึกษา EHIA ลุยโรดโชว์ ดึงสายเรือระดับโลกร่วมทุน ผุดเฟสแรก รวมแพกเกจท่าเรือ “ชุมพร-ระนอง” มอเตอร์เวย์ รถไฟ กว่า 5 แสนล้าน เปิดปี 73
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง) ว่า ขณะนี้การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน
คัดเลือกจุดก่อสร้างท่าเรือทั้งสองฝั่งได้แล้ว คือ บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง รวมถึงแนวเส้นทางการพัฒนาเชื่อมโยง ระยะทางประมาณ 89.35 กิโลเมตร โดยจะมี ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) และระบบขนส่งทางท่อ (Pipeline) มีรูปแบบ ทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้นและอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง ในช่วงที่ผ่านพื้นที่ภูเขาเพื่อให้ความลาดชันของโครงการอยู่ที่ 1% ซึ่งจะมีผลต่อการทำความเร็วของรถบรรทุก
ทั้งนี้ จากระยะเวลาจ้างศึกษา 30 เดือน (มี.ค. 64-ก.ย. 66) นั้น แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้จึงมีการขยายระยะเวลาการศึกษาออกไปสิ้นสุดเดือน ก.ย. 67 หรือล่าช้าจากแผน ประมาณ 12 เดือน โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทำรายงาน EHIA โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 วันที่ 16-17 ส.ค. 66 ครั้งที่ 2 เดือน ธ.ค. 66 ครั้งที่ 3 เดือน มี.ค. 67 จากนั้นจะนำรายงาน EHIA เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต่อไป
นายปัญญากล่าวว่า เดิม สนข.ได้สรุปการศึกษาในเบื้องต้นเพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการฯ แต่เนื่องจากมีการยุบสภาไปก่อน ดังนั้น หากมี ครม.ชุดใหม่ สนข.ได้เตรียมข้อมูลนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบในหลักการโครงการฯ จากนั้นจะทำการโรดโชว์กับนักลงทุนในช่วงเดือน ต.ค -พ.ย. 66 ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง เพราะมีทั้งท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ โดยจะรวมการลงทุนเป็นแพกเกจเดียวกัน ให้เอกชนลงทุน 100% โดยเป็นเอกชนต่างชาติร่วมกับเอกชนไทย ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี โดยนักลงทุนเป้าหมายคือกลุ่มสายเดินเรือขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าในมือผู้บริหารท่าเรือที่มีความเชี่ยวชาญ และนักลงทุนอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องรับฟังข้อมูลจากภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ ว่าต้องการให้รัฐสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกเรื่องใดบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาประมวลไว้ในผลการศึกษาเพื่อวิเคราะห์โมเดลการพัฒนาการลงทุนที่เหมาะสม
คาดว่าจะสรุปผลการศึกษารูปแบบโมเดลธุรกิจต่างๆ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ นอกจากนี้จะเสนอร่าง พ.ร.บ.เอสอีซี เพื่อเป็นกฎหมายเฉพาะในการรองรับการพัฒนา และจัดตั้งสำนักงานเอสอีซี เพื่อขับเคลื่อนเหมือนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก (อีอีซี)
ทั้งนี้ โครงการฯ มีผลดีต่อประเทศ และเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะได้รับการพิจารณาและผลักดันจากรัฐบาล แผนงานคาดว่าจะคัดเลือกผู้ลงทุนและลงนามสัญญาประมาณไตรมาสที่ 3 ปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี เปิดให้บริการระยะแรกในปี 2573
สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น จะมีการพัฒนาแลนด์บริดจ์ 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ประมาณมูลค่าการลงทุน รวมทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาท รองรับ 20 ล้านทีอียู แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ (เฟส) ย่อย
โดยเฟส 1/1 มูลค่าลงทุนรวม 522,844 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. ท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 260,235 ล้านบาท แบ่งเป็น ฝั่งชุมพร รองรับ 4 ล้านทีอียู มูลค่าลงทุน 118,519 ล้านบาท ก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง รองรับ 6 ล้านทีอียู มูลค่าลงทุน 141,716 ล้านบาท
2, พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 60,892 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพรมูลค่าลงทุน 38,113 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนองมูลค่าลงทุน 22,779 ล้านบาท
3. เส้นทางเชื่อมโยงมอเตอร์เวย์ขนาด 4 เลน และรถไฟทางคู่ มูลค่ารวม 201,716 ล้านบาท
เฟส 1/2 มูลค่าการลงทุนรวม 164,671 ล้านบาท โดยจะขยายท่าเรือ ชุมพรรองรับ 8 ล้านทีอียู ท่าเรือระนองรองรับเป็น 12 ล้านทีอียู และขยายมอเตอร์เวย์เป็น 6 เลน
เฟสที่ 1/3 มูลค่าลงทุนรวม 228,512 ล้านบาท โดยจะขยายท่าเรือชุมพรรองรับ 14 ล้านทีอียู ท่าเรือระนองรองรับเป็น 20 ล้านทีอียู และเฟส 1/4 มูลค่าลงทุนรวม 85,177 ล้านบาท ขยายท่าเรือชุมพรรองรับ 20 ล้านทีอียู
การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นั้น เพื่อพัฒนาเป็นการค้าของประเทศไทย ซึ่งจะไม่ใช่การพัฒนาเพื่อแข่งขันกับท่าเรือสิงคโปร์ แต่จะเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมกัน ซึ่งปัจจุบันช่องแคบมะละกามีข้อจำกัดแออัด เพราะปริมาณเรือเพิ่มมากขึ้น สายเรือต้องเสียเวลารอ โดยจะเป็นทางเลือกในการขนส่ง เนื่องจากสามารถลดระยะเวลาการขนส่งลง 4 วัน เทียบจากช่องแคบมะละกา จึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเน้นรับเรือฟีดเดอร์ ขนาด 8,000-9,000 ทีอียู สินค้าประเภทถ่ายลำ เพื่อเป็นเกตเวย์ เชื่อมการขนส่งสินค้ายุโรป-แลนด์บริดจ์-จีน เป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ.
โตโฌยต้าชุมพร https://www.facebook.com/toyotachumphon/?mibextid=ZbWKwL
ฮอนด้าชุมพร https://www.facebook.com/hondachumphon?mibextid=ZbWKwL