อำเภอปะทิวอนุรักษ์ต่อยอดปลูกข้าวเหลืองปะทิว โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน สนองเจตนารมณ์กระทรวงมหาดไทย-สหประชาชาติ ภายใต้วาระการพัฒนาใน 5 มิติ
วันที่ 14 กันยายน 2566 แปลงสาธิตปลูกข้าวเหลืองปะทิว พื้นที่ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ-สจล.ชุมพร หมู่ที่ 6 ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร นายเจริญโชค พรหมชุติมา นายอำเภอปะทิว นายกิติพงค์ โสมณะ ปลัดอำเภอปะทิว ร่วมกับส่วนราชการ ชุมชน หมู่บ้าน สถาบันการศึกษา จัดกิจกรรมปลูกข้าวเหลืองปะทิว ภายใต้โครงการอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนปะทิว
ตามที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้ลงเจตนารมณ์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ในประทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่ครอบคลุมและมีแนวโน้มการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากที่สุด ภายใต้วาระการพัฒนาใน 5 มิติ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาคน ให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหาความยากจน และความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (2) เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง ส่งเสริม ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้อง กับธรรมชาติ (3) สิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพ ภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป (4) สันติภาพและความยุติธรรม ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก (5) ความเป็นหุ้นส่วน การพัฒนาความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำนักงานอำเภอปะทิว จึงร่วมกับทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมีการหว่านข้าวพันธุ์ข้าวเหลืองปะทิว เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นถิ่นที่มีในอำเภอปะทิว มาตั้งแต่อดีต สำหรับอำเภอปะทิว หรือมีชื่อเดิมว่า “ปากทิว” ซึ่งเป็นเมืองที่มีการทำนาเพื่อปลูกข้าวเป็นอาหารมานานแล้ว ในพื้นที่มีการปลูกข้าวพื้นเมืองเหลืองปะทิว และต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์ ได้ชื่อเป็นพันธุ์เหลืองปะทิว 123 มีลักษณะพิเศษ เมล็ดเรียวยาว ให้ผลผลิตสูง หุงขึ้นหม้อสุกร่วนรสชาติดี
ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร ( Khao Leuang Patew Chumphon ) หมายถึง ข้าวเจ้าพันธุ์เหลืองประทิว 123 เป็นข้าวเจ้าพื้นเมืองพันธุ์หนัก ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้เฉพาะฤดูนาปีตามระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร เป็นข้าวพื้นแข็ง เมื่อหุงสุกจะร่วนเป็นตัว ไม่เกาะกันเป็นก้อน และหุงขึ้นหม้อ เมื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้นจะได้เส้นที่เหนียวไม่ยุ่ย หรือขาดง่าย
ลักษณะภูมิศาสตร์ จังหวัดชุมพร มีที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ตอนบนบริเวณคอคอดกระ ลักษณะพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ ราบ ทางตะวันตกเป็นพื้นที่สูงของเทือกเขาตะนาวศรี และเทือกเขาภูเก็ต เป็นต้นน้ำของแม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำหลังสวน ทางตะวันออกเป็นพื้นที่ราบ มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่เหมาะสมกับข้าวพันธ์เหลืองประทิว 123 ซึ่งปลูกได้ดีในพื้นที่ลุ่มน้ำขัง พื้นที่ที่มีดินเค็มน้ำกร่อย หรือพื้นที่ใกล้ทะเล ลักษณะภูมิอากาศได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี
ข้าวเหลืองปะทิว เป็นข้าวเจ้าที่มีเปอร์เซ็นต์อมิโลสสูงข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวหุงสุกแข็ง-ร่วน ข้าวกล้องของข้าวเหลืองปะทิว มีสารอาหาร ไนอะซีนหรือวิตามิน บี ปริมาณ 9.32 % ซึ่งสูงกว่าข้าวกล้องจากข้าวพันธุ์อื่นๆ ช่วยในการหมุนเวียนของเลือดและลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดซึ่งได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (G) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ซึ่งถือเป็นพันธ์ข้าวของอำเภอปะทิว ที่ควรรักษา อนุรักษ์และต่อยอดให้ข้าวเหลืองปะทิวเป็นที่รู้จักสืบทอดต่อไป.
โตโยต้าชุมพร https://www.facebook.com/toyotachumphon/?mibextid=ZbWKwL
ฮอนด้าชุมพร https://www.facebook.com/hondachumphon?mibextid=ZbWKwL