วิกฤตภัยแล้งทุเรียนร่วงยืนต้นตาย
ทั่วไป ร้องเรียน เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม

วิกฤตภัยแล้งทุเรียนร่วง-ตาย

ชุมพรเมืองหลวงผลไม้ เจอแล้งหนัก ชาวสวนวิ่งหาแหล่งน้ำมีไม่เพียงพอ ทุเรียนเริ่มยืนต้นตาย สวดยับผู้แทนเห็นหน้าตอนเลือกตั้ง พอเดือดร้อนไม่เคยเจอ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดชุมพร กำลังประสบภัยแล้งอย่างหนัก โดยปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว ที่ต้องเจอกับปัญหาภัยแล้งติดต่อกัน ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวน ชาวไร่ เดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียน ที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และกาแฟโรบัสต้า ที่ปลูกกันมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ  จนได้ชื่อว่า “ชุมพรเมืองหลวงผลไม้ภาคใต้” และ “ชุมพรมหานครแห่งโรบัสต้า” มีตลาดกลางซื้อขายส่งออกผลไม้ใหญ่ที่สุดของภาคใต้อยู่ที่อำเภอหลังสวน

ซึ่งขณะนี้ทุเรียนกำลังอยู่ในช่วงออกผลผลิตและจะขายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่เกษตรกรกำลังประสบภัยแล้งขั้นวิกฤติเป็นปีที่ 2 แล้ว ทั้ง ๆที่ก่อนหน้านี้ภาคใต้แทบจะไม่เจอกับปัญหาภัยแล้งมาก่อนเลย  ซึ่งในส่วนของเกษตรกรเองก็ได้เตรียมรับมือภัยแล้งไว้แล้ว โดยการจ้างขุดสระน้ำขนาดใหญ่ไว้ในสวนขอตนเองตั้งแต่ 1-3 จุด และขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลไว้ด้วย แต่ก็ไม่เพียงพอรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่ฝนทิ้งช่วงไม่ตกมานานเกือบ 3 เดือนแล้ว 

จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ทั้งหมด 3.75 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 2.56 ล้านไร่ เป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่มีชื่อเสียงของประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด กาแฟ และเป็นศูนย์กลางการตลาดทุเรียนของภาคใต้  ผลิตทุเรียน ปาล์มน้ำมันและยางพารา รวมมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวเท่ากับ 250,823 บาทต่อคนต่อปี เป็นลำดับที่ 1 ของภาคใต้ และลำดับที่ 12 ของประเทศ 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจังหวัดชุมพร ไม่เคยประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงหรือประสบภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรในจังหวัด  แต่ในปี 2566 จังหวัดชุมพรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานในหลายพื้นที่ของจังหวัด และในปี 2567 ก็ประสบปัญหาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

จากปัญหาภัยแล้งดังกล่าว ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ต้องขับรถวิ่งหาแหล่งน้ำ และซื้อน้ำตามจุดบริการต่าง ๆ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เพื่อนำน้ำไปเติมลงในสระพักที่ขุดไว้ ใช้รดต้นทุเรียนที่กำลังออกผลผลิตและเริ่มเหี่ยวแห้งทยอยยืนต้นตาย เกษตรกรชาวสวนต้องต้องนำรถไปเข้าคิวรอกันเป็นแถวยาวเหยียดตั้งแต่ยังไม่สว่าง จนถึงขั้นแทบต้องแย่งชิงน้ำกันแล้ว

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ ตำบลเขาค่าย อ.สวี จ.ชุมพร เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เรียกได้ว่ากำลังวิกฤติ โดยพบว่าในพื้นที่ตำบลเขาค่ายและตำบลเขาทะลุ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับ มีเกษตรกรปลูกทุเรียนจำนวนมาก เกือบทุกพื้น มีชาวบ้านเปิดจุดบริการขายน้ำหลายจุด โดยใช้เครื่องยนต์ต่อท่อสูบขึ้นมาจากแหล่งน้ำ และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ก็ได้เปิดจุดบริการสูบน้ำขึ้นมาจากแหล่งน้ำสาธารณะบริการฟรีกับเกษตรกรชาวสวน แต่ก็ยังเพียงพอ เนื่องจาก มีเกษตรกรนำรถบรรทุกถังขนาดใหญ่ไปรอคิววิ่งเข้าออกกันตลอดทั้งวันอย่างต่อเนื่องมานานนันเดือนแล้ว

นายสมชาย ชัยรัตน์ อายุ 52 ปี ชาวสวนทุเรียนตำบลเขาค่าย กล่าวว่าสถานการณ์ภัยแล้งมีนี้รุนแรงมาก ในส่วนของชาวบ้านได้เตรียมพร้อมรับมือกันไว้แล้ว มีการขุดสระเป็นแหล่งเก็บน้ำสำรอง แต่ด้วยฝนแล้งไม่ตกต่อเนื่องนานเกือบ 3 เดือน น้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงต้องออกมาหาแหล่งน้ำตามจุดที่องค์กรส่วนท้องถิ่นมีไว้บริการ แต่ก็มีเพียงจุดเดี่ยว จึงทำให้ชาวบ้านต้องแย่งชิงกันมาเข้าคิวยาวเหยียด ทำให้ไม่ทันการกับปัญหาที่เกิดขึ้น 

นายสมชายกล่าวว่า มีชาวบ้านในพื้นที่ตั้งจุดสูบน้ำขึ้นมาจากแหล่งน้ำไว้บริการขายให้กับเกษตรกรจำนวนหลายจุด แต่ทางผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรียกประชุมผู้ขายน้ำสั่งให้ขายได้ 1 วัน และต้องหยุดขาย 1 วัน เพราะกลัวว่าน้ำจะหมด จึงทำให้ในวันที่ผู้ให้บริการขายน้ำหยุดขาย มีเพียงจุดบริการของ อบต.เพียงแห่งเดียว เกษตรกรจึงต้องมาจองรอคิวรวมกันอยู่ที่เดียวเป็นจำนวนมาก เกือบจะกลายเป็นปัญหาแย่งชิงน้ำกันขึ้นมาแล้ว จึงอยากให้มีการเปิดจุดบริการขายน้ำได้ตามปกติทุกวันด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเพียงพอทันต่อสถานการณ์ภัยแล้ง 

ขณะที่นางสาวอรนุช มุ่งเครือ อายุ 39 ปี กล่าวว่าตนมีสวนทุเรียน 13 ไร่ รวมกว่า 300 ต้น ตอนนี้ออกลูกเท่ากำปั้นแล้ว และลูกกำลังทยอยร่วงลงมาเรื่อย ๆ บางต้นร่วงจนหมดต้นแล้ว และกำลังจะยืนต้นตาย เพราะอากาศทั้งร้อนจัดและแห้งแล้งต่อเนื่องมานานกว่า 2 เดือน ทั้ง ๆที่ต้นก็เตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว ทั้งขุดสระ เจาะบ่อบาดาล แต่ความแห้งแล้งทำให้ไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย จึงต้องไปหาน้ำตามแหล่งต่าง ๆมาสำรองไว้ อยากจะให้ทางหน่วยงานเกี่ยวข้องได้หาแหล่งน้ำสำรองไว้ให้กับเกษตรกร และช่วยนำฝนหลวงมาบินด้วย แม่ที่ผ่านมาแม้จะมีฝนหลวงบินมาช่วยทำฝนหลวงอยู่บ้างแต่ก็มาน้อยมาก แทบจะไม่มีฝนตกลงมาเลย

ด้านนายบุญทิ้ง วิชัยดิษฐ์ ชาวสวนทุเรียนที่มารอคิวเติมน้ำกล่าวว่า ตั้งแต่ชาวบ้านประสบภัยแล้งพวกตนยังไม่เห็นหน้า ส.ส. กันเลย แทนที่จะลงมาดูแลประสานงานช่วยชาวบ้านบ้าง ซึ่งไม่เหมือนตอนเลือกตั้งยกมือไหว้มาแต่ไกลมาจนถึงหัวบันใดบ้าน  อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดก็ไม่มีลงมาเลย มีแต่ชาวบ้านช่วยกันเอง และมีจุดบริการน้ำของ อบต.เขาค่าย ในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งก็เกินขีดความสามารถของท้องถิ่น เคยประสานไปยังตัวแทน ส.ส. ก็แค่บอกว่าเดี๋ยวจะลงมาช่วย แต่ก็ไม่เคยเห็นลงมาเลย ส่งตัวแทนมาช่วยก็ไม่เคย ไม่เชื่อถามชาวบ้านหลายๆคนดู

นายบุญทิ้งกล่าวว่า ส่วนโครงการสร้างฝาย สร้างเขื่อนชะลอกักเก็บน้ำของหน่วยงานรัฐที่มาสร้างไว้ก็ไม่ได้ผล น้ำแห้งหมดมีแต่โคลนตม ปล่อยทิ้งให้ร้างชำรุดทรุดโทรม แล้วจะมาสร้างใหม่ ตนก็บอกว่าเงินที่จะเอามาสร้างใหม่ 20-30 ล้าน นำไปซ่อมบำรุงของเก่าที่ทิ้งร้างให้กลับมาใช้ได้จะดีกว่าไหม คิดแต่จะสร้างใหม่ ทั้ง ๆที่ของเก่าก็สร้างทิ้งไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ตนคิดว่าถ้ายังปล่อยกันไว้แบบนี้ปีหน้าถ้าแล้งอีกจะเกิดศึกแย่งชิงน้ำแล้วฆ่ากันตายแน่ ๆ