ไม่สนใจชาวบ้านค้านสัมปทานบัตรเหมืองแร่
ข่าวเด่น ทั่วไป ร้องเรียน อาชญากรรม เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม

ไม่สนชาวบ้านค้านทำเหมืองแร่

ชาวบ้านยื่นหนังสือประธานสภา อบต.บางน้ำจืด ขอยับยั้งชะลอวาระพิจารณาลงมติให้บริษัททำเหมืองทรายแก้วในพื้นที่ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม ส.อบต.เสนอขอลงมติลับ 5 เสียง ไม่เห็นด้วยวอล์ค์เอ้าท์ออกจากห้องประชุมเหลืออีก 8 เสียง ยกมือผ่านฉลุย ชาวบ้านไม่ยอมเดินหน้าคัดค้านเต็มที่ เตรียมรวมพลขอความเป็นธรรมศูนย์ดำรงธรรม และร้องศาลปกครองขอคุ้มครอง

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ได้มีแกนนำชาวบ้านนำโดย นายสุธรรม มาดไทย ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 ตำบลบางน้ำจืด นายธนกฤต หีตสุววณ อายุ 54 ปี นายวุฒิพงษ์ เดชาฤทธิ์ อายุ 47 ปี พร้อมชาวบ้านกว่า 20 คน ได้มายื่นหนังสื่อต่อ นายบัลลังก์ นันทพล ประธานสภาฯ ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสมาชิกสภา อบต.บางน้ำจืด สมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 ประจำปี 2567 ในวันเดียวกัน เพื่อขอให้ชลอกรณ์ที่สภา อบต.บางน้ำจืด ได้บรรจุระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา ข้อ 3.5 การขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการขออนุญาตขอประทานบัตรเหมืองแร่ (ทำทรายแก้ว) ในพื้นที่คำขอประทานบัตร ที่ 1/2561 และ 1/2563 ตำบลบางน้ำจืดนั้น

โดยมีเนื้อความระบุว่า จากกรณีที่ บริษัท เทพาพร จำกัด ได้มอบหมายให้ทางบริษัท จีเอ็มที่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการศึกษาสภาพอุทกธรณีวิทยาน้ำใต้ดิน ตามรายงานประมวลผลศึกษา (ตามเอกสารที่แนบระเบียบวาระ) การขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการขออนุญาตขอประทานบัตร  ในการนี้ประชาชนหมู่ 13 บ้านท้องครก ตำบลบางน้ำจืด ได้มีมติขอยื่นเรื่องเสนอสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดังนี้

1. ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาของผู้ประกอบการ จึงขอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำจืด ชะลอการพิจารณาขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการขออนุญาตขอประทานบัตรเหมืองแร่(ทรายแก้ว)ในพื้นที่คำขอประทานบัตร ที่ 1/2561 และ 1/2563 ตำบลบางน้ำจืด ไปพรางก่อน

2. ขอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำจืด ทำหนีงสือถึงจังหวัดเพื่อหารือในการตั้งกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบการทำเหมือทรายแก้ว โดยมีทั้ง 4 ฝ่าย 1.ผู้ประกอบการ 2.หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 3.มหาวิทยาลัยในจังหวัด(นักวิชาการ) 4.ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ภายหลังรับหนังสือ นายบัลลังก์ นันทพล ประธานสภาฯ ได้อนุญาตให้ตัวแทนบริษัททีปรึกษา ของบริษัทที่ขออนุญาตสัมประทานบัตร และชาวบ้านเข้าร่วมรับฟัง ในช่วงที่มีการประชุมในวาระเพื่อพิจารณาดังกล่าว แต่ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าทำข่าวภายในห้องประชุมระหว่างที่มีการชี้แจงกรณีดังกล่าวได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงเวลาประมาณ 11.00 น.ก่อนจะมีการลงมติ ในระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา ข้อ 3.5 การขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการขออนุญาตขอประทานบัตรเหมืองแร่ (ทำทรายแก้ว) ในพื้นที่คำขอประทานบัตร ที่ 1/2561 และ 1/2563 ตำบลบางน้ำจืดนั้น ประธานสภาฯได้เชิญแกนนำและชาวบ้านออกจากห้องประชุมก่อนมีการลงมติตามวาระเพื่อพิจารณาดังกล่าว จากสมาชิกสภา อบต.ที่มีทั้งหมด จำนวน 14 คน โดยมีสมาชิกสภา อบต.เสียงส่วนใหญ่ได้เสนอให้มีการลงมติลับ จึงทำให้สมาชิกสภา อบต.จำนวน 5 คนที่ไม่เห็นด้วย ได้ขอวอล์ค์เอ้าท์ออกจากห้องประชุม จึงเหลือสมาชิก ส.อบต.จำนวน 8 เสียง และผลจากการลงมติลับทั้ง 8 เสียง มีมติอนุมัติให้การขออนุญาตสัมประทานบัตรทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังการพิจารณาและการประชุมสภาสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 ประจำปี 2567 เสร็จสิ้นและปิดประชุมในเวลา 12.00 น. ปรากฏว่า ได้มี นายบัลลังก์ นันทพล ประธานสภาฯ เดินออกมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ส่วน นายสุชาติ ตังสุรัตน์ นายก อบต.บางน้ำจืด พร้อมคณะผู้บริหาร และ ส.อบต.รวมทั้ง 8 คน ผู้สื่อข่าวรอสัมภาษณ์อยู่ด้านหน้าห้องประชุม ซึ่งไม่พบแต่อย่างใด ทราบว่าเดินทางกลับออกไปก่อนที่ประธานสภาฯจะเดินออกมาก่อนแล้ว

ด้าน นายวุฒิพงษ์ เดชาฤทธิ์ แกนนำชาวบ้านกล่าวว่า เมื่อผู้นำ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของชาวบ้านไม่สนใจชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่าสนมาชาวบ้านได้มีการทำประชาคมกันแล้วส่วนใหญ่ 99 % ไม่เห็นด้วย  เพราะการให้อนุญาตสัมปทาบบัตรทำเหมืองแร่ขุดทรายแก้วในพื้นที่จำนวนนับร้อยไร่ จะเกิดผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน ทั้งเรื่องการขาดแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียง ฝุ่นละออง มลพิษทางเสียง และอื่นๆตามมาอีกมากมาย จากนี้พวกเราก็จะเดินหน้าเรียกร้องและขอความเป็นธรรมโดยจะไปยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และจะรวบรวบหลักฐานฟ้องศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองต่อไป

ขณะที่ นายสวัสดิ์ หิ้นเตี้ย อายุ 84 ปี ชาวบ้านในพื้นที่สัมปทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว กล่าวว่าตนอายุมากแล้วอีกไม่นานก็ตาย แต่ที่เป็นห่วงคืออนาคตของลูกหลานที่อาจจะได้รับผลกระทบในอนาคต ทั้งแหล่งน้ำที่อาจจะขาดแคลน ถ้าหากให้มีการทำเหมืองแร่ทรายแก้ว รับรองได้ว่าภายใน 5 ปี เกิดผลกระทบกับชุทชนขึ้นอย่างแน่นอน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่ขอสัมปทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว อยู่ในพื้นที่หมู่ 13 ตำบลบางน้ำจืด อยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวริมทะเล และสวนสมเด็จพระเทพ โดยเฉพาะเกาะพิทักษ์ ที่อยู่ใกล้กับฝั่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์ที่ขึ้นชื่อระดับประเทศ และต้องอาศัยใช้น้ำประปาต่อท่อจากบนฝั่งขึ้นไปใช้บนเกาะเป็นหลัก ชาวบ้านในพื้นที่จึงหวั่นวิตกว่าอาจจะเกิดผลกระทบตามมาหากมีการทำเหมืองแรหินแก้วในบริเวณดังกล่าว 

อย่างไรก็ตามตัวแทนบริษัท จีเอ็มที่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทที่ปรึกษาของบริษัทสัมปทานบัตรเหมืองแร่ ประเภท 1 ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า บริษัทได้ขออนุญาตสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่ ประเภท 1 จำนวน 100 ไร่ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการทำประชาพิจารณ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  พ.ศ.2535 เนื่องจากเป็นเหมืองแร่ประภาทขุดตัก ไม่ได้ระเบิดหรือใช้เครื่องจักรกลหนักแต่อย่างใด.