ปลาหมอคางดำระบาดที่ชุมพร
เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม

ปลาหมอคางดำชายทะเล

ชุมพรชายหาดยาว 222 กม. พบปลาหมอคางดำระบาดหนักลงสู่ทะเลห่างฝั่งไม่เกิน 500 เมตร เผยปล่อยลูกพันธุ์สัตว์น้ำเท่าไรก็ถูกกินเกลี้ยง ถ้าไม่รีบกำจัดชาวประมงเดือดร้อนหนักแน่ โวยหน่วยงานรัฐต้นเหตุปล่อยนำเข้า แล้วไม่ควบคุมจนหลุดระบาดไปทั่ว 

หลังจากสื่อมวลชนได้รายงานข่าวเปิดเผยถึงการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำในหลายจังหวัดทั่วประเทศนั้น ในส่วนของจังหวัดชุมพร ก็ถือเป็นอีกพื้นที่มีการแพร่ะบาดของปลาหมอคางดำอย่างหนักมานานนัน 10 ปี แต่เริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ชาวประมงจะมีการจับขายอย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดที่รวดเร็วของปลาหมอคางดำได้ จนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอาชีพของชาวประมงอย่างมาก เนื่องจากมีชาวประมงชายฝั่งหลายรายวางอวนแล้วได้แต่ปลาหมอคางดำจำนวนมาก จนกลายเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตการแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆริมทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะลูกกุ้งกุลา กุ้งขาว กุ้งเคย ลูกปลา ลูกปูม้า ที่กลุ่มนักอนุรักษ์ และหน่วยงานราชการนำไปปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลองและริมอ่าวชายทะเล จะถูกปลาหมอคางดำกินแทบไม่เหลือให้ได้เติบโตแพร่ขยายพัน์ในแหล่งน้ำได้เลย

โดยเฉพาะในพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดชุมพร ที่อยู่ติดกับทะเล ได้แก่ อ.ปะทิว อ.เมือง อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.หลังสวน อ,.ละแม ซึ่งมีลำคลองและริมชายหาดติดกับทะเลอ่าวไทย มีความยาวถึง 222 กิโลเมตร จากทิศเหนือเขตติดต่อกับจ.ประจวบคีรีขันธ์ และทิศใต้เขตติดต่อกับ จ.สุราษฎร์ธานี ขณะที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต่างเร่งรณรงค์และออกมาตรการกำกัดปลาหมอคางดำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กันอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านริมคลองอีเล็ตและคลองท่าตะเภา ในพื้นที่ตำบลท่ายาง ตำบลปากน้ำชุมพร อ.เมือง จ.ชุมพร ที่เคยดำเนินชีวิตด้วยการนำเรือเล็กออกทำประมงหา กุ้ง ปู ปลา รวมถึงการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อขาย ทุกวันนี้ต้องพบเจอกับปลาหมอคางดำมานานนับ 10 ปีแล้ว แต่ในช่วง 2 ปีหลังมานี้เริ่มสังเกตุได้ว่าหาสัตว์น้ำได้น้อยลง จนแทบจับได้แต่ปลาหมอคางดำเท่านั้น ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น จนต้องปรับเปลี่ยนมาเป็น

การออกหาปลาหมอคางดำขายให้กับโรงงานปลาป่นและผู้บริโภคทั่วไป เนื่องจากสัตว์ทะเลชนิดอื่นเช่นปลากระบอก กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม ถูกปลาหมอคางดำจับกินจนหมด ซึ่งเป็นตัดวงจรการแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ ซึ่งคลองงอีเล็ตนั้นจะเชื่อมต่อกับคลองท่าตะเภา ที่ไหลมาจากในตัวเมืองชุมพรก่อนระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่ปากน้ำชุมพร 

นายสง่า คงศิริ อายุ 57 ปี ชาวประมงริมคลองอีเล็ต ให้ข้อมูลว่าช่วงที่ผ่านมาหลังจากสัตว์ท้องถิ่นที่เคยหาจับได้นั้น ปัจจุบันแทบจะไม่เหลืออยู่ในคลองอีเล็ต มีเหลือแต่ปลาหมอคางดำเท่านั้นที่จับมาได้ ส่วนสัตว์น้ำอื่นไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ปลาชนิดต่าง ๆ เรียกได้ว่าสูญหายไปจากคลองแห่งนี้หมดแล้ว ตอนนี้ปลาหมอคางดำมันแทบจะเป็นอาชีพหลักของชาวประมงไปแล้วในการจับขาย แต่ในพื้นที่มีเพียงโรงงานเดียวที่รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น เพื่อนำไปทำปลาบ่น ส่วนโรงงานอื่น ๆอีกหลายแห่งไม่รับซื้อบอกว่าปลาหมอคางดำมีแต่ก้างเนื้อน้อย แต่ก็ต้องทำเพราะยึดอาชีพประมงมานานจึงไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไรได้อีกแล้ว

ด้าน นายจิรวุฒิ คำภิโรจน์ เจ้าหน้าที่ชำนาญการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชุมพร เปิดเผยว่าตอนนี้ใน จ.ชุมพร พบว่ามีการระบาดอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือทั้งพื้นที่ในคลองและในทะเล โดยทางศูนย์ฯ จะนำตัวอย่างของปลาหมอคางดำที่พบในทะเลรอบนี้ นำไปผ่าพิสูจน์เพื่อดูว่าในท้องปลาหมอคางดำ ได้จับสัต์น้ำชนิดใดกินเป็นอาหารบ้าง โดยการวิเคราะห์ในกระเพาะอาหาร รวมถึงการเก็บข้อมูลเรื่องขนาดความยาวและน้ำหนักตัว และจะนำไปพัฒนาในการจับและกำจัด โดยช่วงนี้มีการพบเจอปลาหมอคางดำบ่อยขึ้นในทะเล หลังจากที่มีข้อมูลว่าชาวบ้านได้ออกไปวางอวนทำประมง สามารถวางอวนจับปลาหมอคางดำได้ในเขตระยะชายฝั่งทะเลไม่เกิน 500 เมตร

ด้าน นางทิพย์รัตน์ ทิพย์มงคล ชาวบ้านตำบลบางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ที่ออกมาช่วยร่วมกันจับปลาหมอคางดำได้ กล่าวกล่าวว่าสถานการณ์ตอนนี้ในพื้นที่ หมู่ 8 ตำบลบางสน ที่ตนเองอาศัยนั้นเมื่อหลายปีมาแล้วในช่วงหน้าน้ำ หน้าฝน น้ำก็จะไม่ไหลลงทะเล ปลาและสัตว์น้ำจะเข้ามาวางไข่ในคลองบางเสียบ หมู่ 8 ตำบลบางสน มีทั้งปลาสาก ปลาดอกไม้ ปลากระพงแดง ปลากระบอก และสัตว์น้ำท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ตนเองก็จะไปจับปลาในช่วงตอนเช้า แต่ละครั้งละได้จำนวนมาก แต่ตอนนี้ในคลองมีแต่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเต็มไปหมด ลูกปลาเล็กปลาตัวน้อยที่ไปอยู่บริเวณหน้าปากคลอง ปากอ่าว เพื่อรอวันเติบโต รวมถึงกุ้งกุลา ปลากระบอก และกุ้งเคย ที่อยู่ตามริมคลอง ริมอ่าวในทะเลก็ไม่มีเหลือแล้ว ถูกปลาหมอคางดำกินหมด 

“ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะหน่วยงานราชการให้มีการนำเข้าแต่กลับหละหลวมไม่มีมาตรการควบคุมที่ดี ปล่อยให้มีการระบาดลงสู่แหล่งน้ำ แล้วมาตามแก้ปัญหาภายหลังมันก็เป็นเรื่องที่ยากมาก” นางทิพย์รัตน์กล่าว

นายณรงค์ ม่วงทองคำ หรือ “ลุงเช็ค” ผู้ก่อตั้งธนาคารปู โรงรับจำนำปู ตำบลสะพลี อ.ปะทิว กล่าวว่าได้รับฝาก รับจำนำปูไข่ในระยะไข่อยู่นอกกระดองจากชาวประมง เพื่อนำเลี้ยงรอให้ตัวแม่ปูสลัดไข่เป็นตัวอ่อนตัวออกจากตัวจนหมด แล้วเลี้ยงอนุบาลจนโตเหมาะสมที่จะนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำและในทะเล แต่ทุกครั้งที่ปล่อยลูกปูม้าลงทะเลตนก็จะรู้สึกกังวนมาตลอด เพราะจะเห็นปลาหมอคางดำมารวมกันเป็นฝูงเพื่อรอกินลูกปูที่ตนเองอนุบาลแล้วปล่อยลงสู่ทะเลตามจุดต่าง ๆ.