แฟลชเอ็กซ์เพรสขับขี่ปลอดภัยปี5
การศึกษา ศาสนา สังคม กิจกรรม สินค้า บริการ

“แฟลชเอ็กซ์เพรส”ขับขี่ปลอดภัยปี5

แฟลช เอ็กซ์เพรส จับมือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบังคับการตำรวจทางหลวงลงนามความร่วมมือ(MOU)โครงการขับขี่ปลอดภัยฯ ต่อเนื่องปีที่ 5

แฟลช เอ็กซ์เพรส ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่าง กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบังคับการตำรวจทางหลวง สานต่อโครงการขับขี่ปลอดภัยฯ ปีที่ 5 โดยปีนี้มุ่งเน้นการจัดทำหลักสูตรอบรมแบบ e-Learning เน้นหนักในเรื่องข้อกฎหมาย และวินัยจราจร

นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ระดับมืออาชีพ ให้บริการครบวงจร ครอบคลุมทั่วไทย และเซาท์ อีส เอเชีย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี ในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มีนโยบายสร้างการตระหนักรู้ และปลูกจิตสำนึกให้แก่พนักงานทุกคนได้มีองค์ความรู้เรื่องกฏระเบียบวินัยจราจร โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องใช้ถนนสาธารณะ จึงได้ริเริ่มโครงการ “เสริมสร้างวินัย ขับขี่ปลอดภัย เพื่อสังคมไทยที่ยั่งยืน-Ride with mind, deliver with care” มาตั้งแต่ปี 2563 โดยในช่วง 3 ปีแรกบริษัทฯ ได้ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) ในการจัดทำหลักสูตรอบรมโครงการฯ โดยเน้นในเรื่องการขับขี่ภายใต้กฎหมายจราจรอย่างปลอดภัย และต่อมาจึงได้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เข้ามาร่วมเป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่าย ทั้งนี้การจัดทำโครงการฯ

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้ง บช.น. และ บก.ทล. ได้ให้ความอนุเคราะห์ร่วมจัดทำเนื้อหาหลักสูตรการอบรม และยังร่วมเป็นวิทยากรเพื่อช่วยสร้างการตระหนักรู้ทั้งในด้านวินัย และกฎหมายจราจรให้แก่พนักงานของบริษัทฯ และประชาชนทั่วไป โดยมีผู้ผ่านการอบรม และได้รับประกาศนียบัตรจาก บช.น. และ บก.ทล. ไปจำนวนมากกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นโครงการฯ ดังกล่าวยังสร้างการตระหนักรู้ให้แก่พนักงาน สามารถช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ โดยสถิติที่รวบรวมไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยการเกิดอุบัติเหตุของพนักงานลดลงไปกว่า 70%  (รายปี)  สำหรับปีนี้บริษัทฯ ได้เปลี่ยนรูปแบบหลักสูตรเป็นแบบ e-Learning เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเนื้อหาหลักสูตรโครงการฯ และนำความรู้ไปปรับใช้ในเชิงปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งในอนาคตจะมีการแปลเป็นแบบ 2 ภาษา และเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของบริษัทฯ และหน่วยงานของภาคีเครือข่ายเพื่อให้เนื้อหาดังกล่าวสามารถเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปในทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ ได้มากขึ้น” นายคมสันต์ กล่าว

ด้าน พล.ต.ต. ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า  ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น) ได้เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่น และตั้งใจของภาคเอกชน โดย 4 ปีที่ผ่านมา บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส ได้จัดโครงการขับขี่ปลอดภัยฯ มาอย่างต่อเนื่อง และมีการส่งรายงานตัวเลขการลดลงของอุบัติเหตุในภาพรวมของบริษัทฯ ให้เป็นข้อมูลแก่ บช.น.ทุกปี บช.น. ในฐานะผู้ดูแลและรับผิดชอบพื้นที่ในส่วนของกรุงเทพฯ ทั้งหมด ปัจจุบันมีถนนมากกว่า 530 สาย มีสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรวมกันสูงกว่า 100,000 ราย ต่อปี

เมื่อ บช.น.ได้ตระหนักแล้วว่าโครงการฯ ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสามารถทำให้ภาพรวมของอุบัติเหตุลดลง แม้จะไม่ใช่ตัวเลขการลดลงที่สูง แต่การที่ภาคเอกชนมีความตั้งใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้านนี้ บช.น.จึงอยากสนับสนุนโครงการดังกล่าว และร่วมเป็นภาคีเครือข่าย โดยในส่วนของเนื้อหาที่ บช.น.จะเข้ามาดูแลจะเป็นในเรื่องประกาศข้อบังคับตาม พรบ.จราจร และกฎหมายบังคับใช้ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน บช.น.คาดหวังว่าโครงการขับขี่ปลอดภัยฯ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างการตระหนักรู้ และเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวบนท้องถนนให้แก่ผู้ขับขี่ สามารถช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ในระยะยาวต่อไป

พลตำรวจตรี คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า ทางกองบังคับการตำรวจทางหลวง(บก.ทล.) ถือเป็นภาคีเครือข่ายที่ร่วมกับแฟลช เอ็กซ์เพรส ริเริ่มโครงการขับขี่ปลอดภัยฯ มาตั้งแต่ปี 2563 บก.ทล.เล็งเห็นว่าบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส ดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยมีพนักงานเข้าร่วมอบรมไปแล้วกว่า 3,000 คน ที่ผ่านมาบก.ทล.ได้ให้ความรู้ และทักษะด้านการขับขี่ พร้อมกับการปลูกฝังด้านจิตสำนึกด้านความปลอดภัยเมื่อต้องใช้เส้นทางร่วมกับประชาชน

สำหรับปีนี้ บก.ทล.จะมาช่วยดูแลเนื้อหาในส่วนการเตรียมความพร้อมในการขับขี่ การตรวจสอบยานพาหนะเบื้องต้น การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ การขอความช่วยเหลือ หรือการแจ้งเหตุเมื่อพบผู้ประสบอุบัติเหตุ ด้วยพื้นที่รับผิดชอบบนเส้นทางหลวง และทางหลวงพิเศษที่บก.ทล.ดูแลอยู่ทั่วประเทศมีมากกว่า 200 เส้นทางครอบคลุมทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ

โดยสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงประจำปี 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้นกว่า 80,224 ราย มีผู้เสียชีวิต 5,662 คน บาดเจ็บ 40,592 คน โดยประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ ทั้งนี้ บก.ทล.คาดหวังว่า โครงการฯ ดังกล่าวที่ปีนี้เป็นการจัดทำในรูปแบบ e-learning จะสามารถเข้าถึงกลุ่มประชาชนที่ใช้รถบนเส้นทางทางหลวงได้มากพอ เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หันมาใส่ใจ ปฏิบัติตามวินัยจราจร ร่วมกันขับขี่ และใช้ถนนอย่างปลอดภัย.