ตม.รวบครูสาวต่างด้าวมีผู้ติดตามหลักแสนแอบสอนภาษาไทยออนไลน์
วันที่ 19 เม.ย.68 ที่สำนักงาน ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรสาคร โดย พ.ต.อ.ปกฉัตร ชัยสุกวัฒน์ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้สั่งการให้พ.ต.ท.เศรษฐพงศ์ ชูเมือง รอง ผกก.ตม.,พ.ต.ต.จิรายุ เชิดฉาย สว.ตม. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน เข้าทำการ จับกุมครูสาวต่างด้าวชาวเมียนมา ที่เปิดคอร์สสอนภาษาไทยทางออนไลน์ซึ่งเป็นไปตาม นโยบาย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม.ให้เร่งรัดปราบปรามเข้มงวดกวดขัน คนต่างด้าวกระทำผิดกฎหมาย แย่งอาชีพคนไทย ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเด็ดขาด
ต่อมาทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ได้สืบสวนพบว่ามีคนต่างด้าวชาวเมียนมา ลักลอบทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook และระบบซูมได้เปิดเป็นคอร์สสอนภาษาไทยอ่านออกเขียนได้ สื่อสารขั้นพื้นฐาน เป็น ผ่านระบบซูมแบบกลุ่ม เรียนเฉพาะวันศุกร์ และวันเสาร์ ครั้งละ 2 ชั่วโมง ติดต่อกัน เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว โดยเก็บค่าเล่าเรียนเป็นรายหัวตกคนละ 1,500 บาท โดยเฟซบุ๊กมีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนคน
เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตม.จว.สมุทรสาคร จึงได้เข้าตรวจสอบเอกสาร พบว่าได้รับการอนุญาตให้ทำงานประเภท กรรมกร ไม่มีสิทธิ์ในการสอนหนังสือแต่อย่างใด จึงทำการจับกุมตัวพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาว่า “ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้“ นำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย และเพิกถอนสิทธิ์การอยู่ต่อในราชอาณาจักรต่อไป
ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ พระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 8 วางหลักไว้ว่าห้ามคนต่างด้าวทํางานโดยไม่มีใบอนุญาตทํางานหรือทํางานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทําได้ หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท พร้อมทั้งให้ส่งคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเร็วตามมาตรา 101 และตามมาตรา 9 ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวทํางาน
โดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทํางานหรือให้คนต่างด้าวทํางานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทําได้ หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 9 ผู้รับคนต่างด้าวเข้าทำงานต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หากมีการกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และห้ามผู้นั้นจ้างคนต่างด้าวทํางานเป็นเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด.



