ฐานชุมพร ท่องเที่ยว กีฬา

แห่ชมยักษ์ใหญ่อวดโฉม เตือนอย่าสัมผัสใกล้ชิด

นักท่องเที่ยวแห่ชมฉลามวาฬยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเลชุมพรอวดโฉมทุกวัน เตือนอย่า เข้าใกล้ชิด

     ฉลามวาฬยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเลชุมพรโผล่อวดโฉมนักท่องเที่ยวทุกวันเปิดเผยขึ้นโดย นางสาวเจียมจิตร สมสอน อายุ 55 ปี หรือ “ทนายป้าเขียว” อยู่บ้านเลขที่ 124 หมู่ที่ 1 ตำบลปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวชื่อ “ กรีนนำเที่ยว ดำน้ำเกาะเวียง ” เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนนี้ มีนักท่องเที่ยวมีดำน้ำชมปะกังรังแถวเกาะเวียง เกาะร้านเป็ดร้านไก่ บริเวณอ่าวทุ่งมหา ตำบลปากคลอง ได้พบกับเจ้าฉลามวาฬยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งทองทะเลชุมพรเกือบทุกวัน เมื่อเจ้าฉลามวาฬเห็นนักท่องเที่ยวดำน้ำก็จะเข้ามาทักทายหยอกล้อแทบทุกครั้ง ใช้เวลาเข้ามาทักทายหยอกล้อให้ถ่ายภาพนานหลายนาที บางครั้งเข้ามาเล่นกับนักท่องเที่ยวนานมากจนนักท่องเที่ยวต้องกลับก่อน

     นางสาวเจียมจิตรกล่าวว่า เกาะเวียง เกาะร้านเป็นร้านไก่ เปรียบเสมือนบ้านของเจ้าฉลามวาฬยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลชุมพร ที่พบมีอยู่จำนวน 3 ตัว อยู่ห่างฝั่งกว่า 10 กิโลเมตร นั่งเรือสปีดโบ๊ทใช้เวลาประมาณ 25 นาที  โดยล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 22 เมษายน 61 ที่ผ่านมา ขณะนักท่องเที่ยวนับสิบคนกำลังดำน้ำชมปะกังรังอยู่แถวเกาะร้านเป็ดร้านไก่ เจ้าฉลามวาฬยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลชุมพร ยาวประมาณ 8 เมตร หนักมากว่า 1 ตัน ก็เจ้ามาทักทายหยอกล้อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมเป็นบุญตาและถ่ายภาพเป็นที่ระลึกนานหลายนาทีก่อนจะว่ายจากไป ซึ่งถือเป็นสีสันที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวแห่งทะเลอ่าวไทยในพื้นที่ จ.ชุมพร

    อย่างไรก็ตามภายหลังภายหลังฉลามวาฬยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเลชุมพร โผล่ขึ้นมาอวดโฉมหยอกล้อคลอเคลียกับนักท่องเที่ยวแบบได้สัมผัสตัวอย่างใกล้ชิดและมีการโพสต์ลงสื่อโซเชียลจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนาๆ จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาแนะนำวิธีปฏิบัติแก่นักท่องเที่ยวทางทะเลอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เข้าไปใกล้และสัมผัสตัวเจ้าฉลามวาฬอย่างใกล้ชิดมากเกินไป เพราะจะเป็นการรบกวนวงจรชีวิตของมัน และจะทำให้ฉลามวาฬหงุดหงิด และเกิดเหตุร้ายขึ้นได้

     นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 24 เม.ย.61 ว่ากรณีฉลามวาฬที่ปรากฏตัวแก่สายตานักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำบริเวณ จ.ชุมพร ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับบริเวณดังกล่าวซึ่งกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายาก เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศของท้องทะเลในพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากฉลามวาฬจะกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร โดยจะเข้ามาในระยะชายฝั่งให้นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่ในการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งในเรื่องป่าชายเลน ปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายาก จำพวก วาฬ โลมา พะยูน เต่าทะเล โดยกรมฯ ได้จัดทำโครงการกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลา กว่า 15 ปี ในเรื่องดังกล่าว และต้องขอขอบคุณเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล กลุ่มอนุรักษ์ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบ ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านี้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์

     ทั้งนี้การชมฉลามวาฬดังกล่าว ด้วยการเข้าไปสัมผัส หรือว่ายน้ำอย่างใกล้ชิด ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเข้าไปสัมผัสตัวสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้โดยตรง อาจจะทำให้สัตว์ติดเชื้อจากมนุษย์ได้ หรือมนุษย์อาจจะได้รับอันตรายได้ ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องที่นักท่องเที่ยวสมควรปฏิบัติกรณีที่พบเห็นสัตว์ทะเลหายาก คอการลดความเร็วเรือเมื่อเข้าใกล้ฉลามวาฬในระยะน้อยกว่า 50 เมตร ให้ความเร็วเหลือน้อยกว่า 2 น็อต ไม่จอดเรือขวางฉลามวาฬ เว้นระยะห่างระหว่างเรือกับฉลามวาฬไม่น้อยกว่า 20 เมตร นำเรือเข้าชมทีละลำเพื่อไม่สร้างความเครียดให้กับฉลามวาฬ ถ้าฉลามวาฬเข้ามาใกล้ให้นักดำน้ำลอยตัวอยู่นิ่งๆ ไม่ไล่คุกคามหรือขวางทางว่ายของฉลามวาฬ หากฉลามวาฬพลิกตัวตะแคงข้างใส่กะทันหัน ให้หยุดกิจกรรมที่จะทำให้ฉลามวาฬเครียดเพิ่มขึ้น

     สำหรับฉลามวาฬในปัจจุบันมีสถานภาพเป็นสัตว์คุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี พ.ศ.2535 ซึ่งตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือกระทำอันตรายอื่นใด แก่ฉลามวาฬ อันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     อย่างไรก็ตามไม่เพียงเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดชุมพร ที่มีฉลามวาฬโผล่ให้นักท่องเที่ยวได้พบเจอ แต่ในกรณีพื้นที่อื่นๆ ที่มีสัตว์ทะเลหายากชนิดอื่น เช่น โลมาสีชมพู ในบริเวณ จ. วาฬบรูด้า บริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก. โลมาหัวบาตรบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง หรือกลุ่มพะยูน ในบริเวณพื้นที่ จ.ตรัง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขอให้นักท่องเที่ยวใช้หลักชมสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้โดยใช้แนวทางปฏิบัติแบบสากล เช่นเดียวกันเพื่อความปลอดภัยของคนและสัตว์