ฐานชุมพร เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม

มอบต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทองช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า

กรมวิชาการเกษตรส่งมอบต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทองช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรค รากเน่าโคนเน่า

วันที่ 11 ก.ย. 61  นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยคณะ และนายเกริกชัย ธนรักษ์ ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร มอบต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทองให้กับตัวแทนเกษตรกร จ.ชุมพรและ จ.สุราษฏร์ธานี เพื่อนำไปปลูกทดแทนต้นทุเรียนที่ตายจากโรคทุเรียน ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร โดยส่งมอบให้เกษตรกรในภาคใต้ จำนวน 3,850 ต้น และภาคตะวันออก จำนวน 6,650 ต้น ซึ่งเป็นไปตามแผนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ยังได้จัดการอบรมและจัดทำเอกสารทางวิชาการ การป้องกันกำจัดโรครากเน่า โคนเน่า และปัญหาศัตรูพืชอื่นๆของทุเรียน พร้อมให้คำแนะนำการป้องกันและรักษาโรค

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝนมากและฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ความชื้นในอากาศสูง เกษตรกรหาช่วงจังหวะในการจัดการสวนและพ่นสารเคมี เพื่อป้องกันกำจัดโรค และแมลงไม่ได้ตามกำหนดเวลา ต้นทุเรียนซึ่งอ่อนแอต่อโรครากเน่า โคนเน่า จากเชื้อไฟทอปธอรา  พาล์มีโวรา อยู่แล้ว จึงทรุดโทรมและตายเนื่องจากการเป็นโรครากเน่า โคนเน่า ร่วมกับเชื้อราชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ภายนอกกิ่งที่เจริญขึ้นมาภายหลัง โดยเฉพาะในสวนที่มีการดูแลรักษาต้นทุเรียนไม่ดี และนอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนราคาสูงมากทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ดูแลจัดการสวนเป็นอย่างดี มีการบำรุงความสมบูรณ์ต้นโดยการใช้ปุ๋ยและธาตุอาหาร ทั้งทางดินและทางใบอย่างเต็มที่ ทำให้ต้นสมบูรณ์มาก รวมทั้งมีการไว้ผลผลิตบนต้นมาก ดังนั้น หลังการเก็บเกี่ยวต้นทุเรียนจึงค่อนข้างทรุดโทรม ประกอบกับสภาพอากาศที่มีฝนตกหนักและต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุเรียนที่ทรุดโทรมและเป็นโรคมากขึ้น ประกอบกับเกษตรกรบางรายขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและกำจัดเชื้อรา โดยใช้วิธีที่ยังไม่ถูกต้อง 

จากสาเหตุดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร ได้ให้สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สถาบันวิจัยพืชสวน และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 – 8 ร่วมกันแก้ปัญหาการระบาดของโรคทุเรียน และมอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีดำเนินการขยายพันธุ์ทุเรียน เพื่อนำไปช่วยเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรคทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก จำนวน 10,500 ต้น และได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้นโดยมีตัวแทนเกษตรกรมารับมอบต้นพันธุ์ทุเรียน เพื่อปลูกทดแทนต้นทุเรียนที่ตายไป นอกจากนี้ได้จัดทำการเตือนภัย แก่เกษตรกรเกี่ยวกับโรคทุเรียนในหน่วยงานต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อรับทราบสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง พร้อมกับให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ แนะนำวิธีการรับมือ โรคเน่าโคนเน่า ในทุเรียน ได้มีการจัดอบรมและจัดทำเอกสารวิชาการป้องกันและกำจัดโรคเน่าโคนเน่า ร่วมถึงปัญหาศัตรูพืชอื่นๆของทุเรียน และให้ความรู้ เรื่องการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพภายใต้สภาพอากาศแปรปรวนการป้องกันกำจัดโรครากเน่ารากเน่าและศัตรูต่างๆ.

: ข่าว/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์ชุมพร