ฐานชุมพร อาชญากรรม

น้ำท่วมเสียหายกว่า13ล้าน เดือดร้อนร่วม5หมื่นคนตาย2ราย ผู้ว่าฯกำชับตรวจสอบช่วยเหลือทุกพื้นที่ไม่ให้ตกสำรวจ

ชุมพรน้ำท่วมสาธารณูปโภคเสียหายกว่า 13 ล้าน ชาวบ้านเดือดร้อน 48,671 คน ตาย 2 ราย ผู้ว่าฯสั่งกำชับส่วนผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบทุกพื้นที่ไม่ให้ตกสำรวจพร้อมให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน

วันที่ 13 พ.ย. 61 นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผวจ.ชุมพร แถลงข่าวสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดชุมพร มีน้ำป่าไหลหลากท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี อำเภอปะทิว อำเภอเมืองชุมพร อำเภอท่าแซะ และ อำเภอละแม รวมจำนวน 63 ตำบล 536 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 48,671 คน 20,123  ครัวเรือน เสียชีวิต 2 ราย บ้านพักอาศัยเสียหายบางส่วน 334 หลัง โรงเรียน 67  วัด 1 แห่ง โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ 1 หลัง ถนน 975  สาย สะพาน 62 แห่ง  ฝาย 59 แห่ง ประปา 9 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง  ท่อระบายน้ำ 37 แห่ง นา 1,181 ไร่ สวน 13,384 ไร่ พืชไร่ 747 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ  13,701,500 บาท  สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีพื้นวิกฤติน้ำท่วม แต่ยังมีน้ำท่วมขังบางแห่งในพื้นที่ลุ่ม และมีฝนตกเล็กน้อยบ้างพื้นที่ สถานการณ์โดยรวมคลี่คลายเข้าสู่ภาวะเกือบเป็นปกติแล้ว

ด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้ตั้งโรงครัวพระราชทานระดับจังหวัดและระดับอำเภอขึ้น จำนวน 2 แห่ง สามารถผลิตอาหารพร้อมรับประทานได้วันละ 14,000 ชุด และจัดตั้งโรงครัวจิตอาสาขึ้นอีก 1 แห่ง ระดมทุกภาคส่วนเข้าให้การช่วยเหลือเรื่องการอพยพและการดำรงชีพในทุกพื้นที่แล้ว จัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็ว หน่วยแพทย์เคลื่อน ที่เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ประสบภัย ผู้บริหารจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้กำชับเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพร้อมกับประสานสรรพกำลังเข้าดำเนินการในพื้นที่อำเภอท่าแซะซึ่งเกิดน้ำท่วมหนักสุด โดยได้จัดศูนย์ดำรงธรรมเคลื่อนที่ เพื่อดำเนินการรับแจ้งปัญหาความเดือนร้อน รับแจ้งเอกสาร และสิ่งของหายในพื้นที่ตำบลท่าข้าม และตำบลนากระตาม  และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งตรวจสอบความเสียหาย และเร่งซ่อมสร้างถนน สะพาน เพื่อให้สามารถใช้การช่วยเหลือเป็นการชั่วคราว

จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าให้การช่วยเหลือในทุกหมู่บ้านแจกจ่ายถุงยังชีพให้ครัวเรือนผู้ประสบภัยให้ครบถ้วน ในทุกพื้นที่น้ำท่วม พร้อมกับให้ระดมกำลังค้นหาบุคคล ครัวเรือนที่ประสบภัยแต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จัดอาหารพร้อมรับประทาน พร้อมน้ำดื่ม เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ แจกจ่ายถุงยังชีพให้ครัวเรือนผู้ประสบภัยให้ครบถ้วน อีกด้วย.