เดือนเดียวอุบัติชุมพรเหตุตาย 17 ศพ ประชุมบูรณาการแก้ปัญหากำชับบังคับใช้กฎหมายจริงจัง
วันที่ 30 พ.ย. 61 นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รอง ผวจ.ชุมพร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 9/2561 เพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดชุมพร โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดชุมพร
ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในการจราจรด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน อย่างจริงจัง เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัย Safety Thailand ตามนโยบายของรัฐบาลทั้งนี้ รัฐบาลได้มุ่งเน้นดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ใช้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) และบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งจากคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการนำนโยบาย “ประชารัฐ” มาเป็นกลไกหลักในการประสานความร่วมมือกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการชุมชน อาสาสมัครต่าง ๆ และประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง
สำหรับการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในครั้งนี้ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดชุมพร ได้สรุปการดำเนินงานพร้อมกับรายงานข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดชุมพร ประจำเดือนตุลาคม 2561 จากรายงานมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวน 17 ราย ซึ่งผู้ประสบเหตุอยู่ในช่วงอายุ 40 – 49 ปี เป็นส่วนใหญ่ และรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด นอกจากนี้ยังพบว่าการตัดหน้ากระชั้นชิดเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงทำให้เสียชีวิตสูงสุดได้แก่การไม่สวมหมวกนิรภัย
นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รอง ผวจ.ชุมพร ได้กำชับให้แต่ละพื้นที่ทำการเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้ถูกต้องครบถ้วน และรายงานมายังจังหวัดเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อกำหนดตัวชี้วัด มาตรการ และแผนงานในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ รวมถึงสามารถขับเคลื่อนการรายงานข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง สมบูรณ์ และที่สำคัญจะนำไปสู่การมีแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และร่วมไปถึงให้เจ้าของพื้นที่ดูแลในจุดเสียง จุดอันตราย ให้เรียบร้อยปลอดภัย
นอกจากนี้ยังได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มงวดให้มากขึ้นซึ่งหลังจากนี้จะกำหนดให้แต่ละองค์กร กำกับดูแลบุคลากรของตนเองในการการใช้กฎหมาย และมีวินัยจราจร โดยจะเริ่มจากส่วนราชการเป็นอันดับแรกอีกด้วย.