สตอรี่ทราเวลกรุ๊ป(กดอ่านรายละเอียด)

“สลัดไข่ก่อนขาย”ชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำชุมพรตั้งชมรมร่วมกันอนุรักษ์ขยายพันธุ์ปล่อยลูกปูม้าลงสู่ทะเลนับร้อยล้านตัว
“สลัดไข่ก่อนขาย” ด้วยจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ผู้หญิงลูกชาวเลคนหนึ่งมองว่าสัตว์น้ำโดยเฉพาะ “ปูม้า” นับวันจะมีจำนวนลดลงอย่างมาก จากแนวคิดแล้วนำไปสู่การปฏิบัติจริงจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนในอาชีพเดียวกันได้ขยายแนวคิดไปสู่การรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าเกิดขึ้น กลายเป็นสัญญาประชาคมต่อกันในหมู่อาชีพชาวประมงพื้นบ้าน หากใครจับปูม้ามี “ไข่นอกกระดอง” มาได้จะต้องเอาไปมอบให้กับชมรมฯนำไปเลี้ยงเพื่อรอให้ “ปูสลัดไข่” แล้วอนุบาลลูกปูให้แข็งแรงก่อนจะนำไปปล่อยคืนสู่ท้องทะเล โดยแม่ปูม้า 1 ตัว จะมีไข่ได้มากถึง 120,000 –1,300,000 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของแม่พันธุ์ ที่ผ่านมาชมรมแห่งนี้ได้ปล่อยลูกปูม้าไปแล้วหลายร้อยล้านตัวได้แพร่ขยายพันธุ์ในท้องทะเลไว้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนสืบทอดแก่ลูกหลาน ส่วนแม่ปูหลังสลัดไข่ก็จะพาไปขายนำรายได้เข้าชมรมฯเป็นค่าใช้จ่ายและซื้ออุปกรณ์ประมงแก่สมาชิกฯต่อไป


นางสาวพรฉวี หีตทิม หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปู ตำบลปากน้ำ อ.เมือง จ.ชุมพร กล่าวว่า ครอบครัวตนเองมีอาชีพทำเรือประมงพื้นบ้านเป็นเรืออวนปูยึดอาชีพนี้มานานกว่า 30 ปี อดีตพ่อจะนำเรือออกไปวางอวนปูบริเวณหน้าอ่าวปากน้ำชุมพรซึ่งห่างจากฝั่งไม่มากนัก และจะกลับมาพร้อมกับได้ปูม้าติดอวนมาจำนวนมาก ซึ่งปูที่ได้จะมีหลายขนาดมีทั้งเล็กไปจนตัวใหญ่


นางสาวพรฉวี กล่าวว่าต่อมานานเข้าพ่อออกไปวางอวนจับปูกลับมาแต่ละครั้งเริ่มได้น้อยลง ซึ่งตนก็เริ่มสังเกตว่าเป็นเพราะอะไรทำไมจึงได้น้อย จนทราบสาเหตุว่าพวกเราชาวประมงจับปูขายหมดไม่มีการคัดแยกว่าเล็กหรือตัวใหญ่ โดยเฉพาะปูไข่จะขายได้ราคาดีมีร้านค้าและลูกค้าต้องการมาก จากนั้นตนจึงได้ลองทดลองเอาปูที่มีไข่นอกกระดองที่ติดอวนมาซึ่งใกล้จะว่างไข่แพร่พันธุ์แล้ว คัดแยกออกแล้วนำมาใส่ถังเปิดออกซิเจนเพื่อเลี้ยงแม่ปูให้สลัดไข่กระทั่งเมื่อแม่สลัดไข่ออกจำนวนหลายหมื่นฟองออกหมดแล้วก็จะอนุบาลไว้ก่อนสัก 4-5 วัน ให้แข็งแรงแล้วก็นำไปปล่อยท่ามกลางสายตาของเพื่อนชาวประมงด้วยกัน ส่วนปูตัวเล็กยังไม่ได้ขนาดก็จะคัดแยกนำไปปล่อยทะเลเช่นเดียวกัน


พรฉวี หีตทิม
นางสาวพรฉวี กล่าวอีกว่าซึ่งตนเองพร้อมพ่อทำแบบนั้นอยู่ประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มเห็นผล มีเพื่อนชาวประมงที่ออกไปตกปลาตกหมึกตอนกลางคืนกลับมาบอกว่าเห็นลูกปูลอยขึ้นมาเล่นไฟในบริเวณที่ตนไปปล่อยจำนวนมาก ต่อมาตนและพ่อจึงได้ชักชวนเพื่อนๆชาวประมงเรืออวนปูและเรือลอบปูเข้าร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปูขึ้นโดยได้การอนุเคราะห์จาก นายสุชาติ แซ่อั้ง ชาวประมงเรืออวนปู เห็นด้วยกันตนและยกบริเวณหลังบ้านเลขที่ 263/1 หมู่ 9 ตำบลปากน้ำ อ.เมือง จ.ชุมพร ตั้งเป็นชมรมฯโดยใช้ชื่อว่า “ชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปูปากน้ำชุมพร” ขึ้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา และขณะนี้มีชาวประมงอาชีพเดียวกันเข้าร่วมแล้วจำนวน 27 คน และทุกคนที่ออกไปจับปู เมื่อได้ปูมีไข่ก็จะนำมาให้ที่ชมรมเพื่อเลี้ยงรอให้สลัดไข่ออกก่อน ซึ่งกระบวนการคล้ายกับธนาคารปู ที่ผ่านมาปล่อยลูกปูไปแล้วนับล้านตัว ส่วนแม่ปูที่สลัดไข่แล้วก็จะนำไปขายและเก็บเงินไว้เป็นกองกลางเพื่อใช้จ่ายในชมรมและซื้ออุปกรณ์สำหรับสมาชิกต่อไป


ด้านนายสุชาติ แซ่อั้ง กล่าวว่าตนเองนั้นมีแนวคิดอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าอยู่แล้วประกอบกับลูกสาวก็จบด้านการประมงมา จึงได้เข้าร่วมและให้ใช้หลังบ้านเป็นที่ตั้งชมรมฯ ดังนั้นวันนี้เราต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่ใช่เพราะเพียงคนของชมรม แต่ผลประโยชน์ได้ทั่วทุกคนที่มีอาชีพประมง

ขณะที่นายตะวัน หีตทิม พ่อของนางสาวพรฉวี กล่าวว่าตนเองรู้สึกดีใจมากหลังจากที่ชาวประมงเรืออวนปูและเรือลอบปู ได้มีจิตสำนึกร่วมกันในการที่จะอนุรักษ์พันธุ์ปูให้ขยายพันธุ์อย่างยั่งยืนสามารถเก็บเกี่ยวหากินได้ชั่วลูกชั่วหลานโดยไม่จับปูไข่และปล่อยปูขนาดเล็กเท่านี้ก็ถือว่าเป็นการอนุรักษ์แล้วยิ่งกว่านั้นหลังจากที่ตั้งชมรมฯขึ้นมา และมีการประชาสัมพันธ์ลงเฟซบุ๊กมีคนเข้ามาให้กำลังใจและคอมเม้นท์ว่าจะไม่กินไม่ซื้อปูขนาดเล็กเท่านั้นก็ทำให้ทุกคนดีใจอย่างมากแล้ว


“สลัดไข่ก่อนขาย” ของชมรมอนุรักษ์ปูม้า ตำบลปากน้ำชุมพร นอกจากชมรมจะอนุรักษ์พันธุ์ปูแล้วยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และยังมีกิจกรรมที่ผู้สนใจจาก กลุ่ม องค์กร นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมปล่อยพันธุ์ปูม้าลงสู่ท้องทะเลเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกร่วมกันในการอนุรักษ์สัตว์น้ำ แถมยังจะได้ซื้อและกินปูเนื้อแน่นสดๆจากทะเลในราคาต้นทางโดยไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลางอีกด้วย.

