สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ยกภาคใต้ให้ “ทุเรียน” เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดชุมพร มีกินทั้งปีทุกฤดูกาล ผลผลิตรวมมากเป็นอันดับ 1 ปีนี้คาดออกสู่ตลาดกว่า 240,000 ตัน รายได้เกิน 1 หมื่นล้านบาท
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับจังหวัดชุมพร ให้ความรู้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจด้านการเกษตร ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์พื้นที่ภาคใต้(ทุเรียน) เพื่อเปิดมุมมองของเกษตรกรได้เห็นถึงความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ไปช่วยในการลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและต่อยอดเป็นธุรกิจ โดยมีเกษตรกร เข้าร่วมประมาณ 1,350 ราย โดยมีการอบรมให้ความรู้เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ค.62 ที่โรงแรมลอฟท์ มาเนีย บูทีค ตำบลท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร
นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผวจ.ชุมพร เป็นประธานในพิธี นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา สมาชิกวุฒิสภา ดร.ปิยวิทย์ โกฏิเพชร ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ร่วมในพิธีเปิดกิจกรรม โดยมี ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผู้ดำเนินโครงการ
การอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจด้านการเกษตร ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์พื้นที่ภาคใต้(ทุเรียน) ตลอดทั้ง 3 วัน ได้มีผู้เชี่ยวชายจากภาครัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ มาเป็นวิทยาการให้ความรู้แก่เกษตรกร
โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ยกให้ “ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้ถือเป็นอัตลักษณ์ของ จ.ชุมพร เพราะมีการทำ “ทุเรียนทะวาย” เป็นนวัตกรรมที่ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีออกนอกฤดูกาลจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี และ จ.ชุมพรมี “ล้ง” หรือจุดรับซื้อทุเรียนส่งออกต่างประเทศ ที่เป็นของชาวต่างชาติและคนไทยอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันกลายเป็นตลาดกลางศูนย์รวบรวมทุเรียนใหญ่ที่สุดของภาคใต้และของประเทศไทย
ปัจจุบัน “ทุเรียน” ไม่ใช่เป็นแค่เพียงผลไม้และแปรรูปเพียงทอดกับกวนเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้ประกอบอาหารในครัวเรือนได้อีกด้วย โดยเฉพาะทุเรียนอ่อน ทุเรียนแก่ที่ยังไม่สุก สามารถนำไปแก้งส้ม ต้มซุป ตำน้ำพริกกุ้งเสียบทุเรียนกรอบ ที่ให้รสชาติอร่อย และทุเรียนยังแปรรูปเป็นขนมได้หลายชนิดทั้งทอดกรอบ กวน ไอศกรีม ซาลาเปา และขนมเค้ก อีกหลากหลายเมนู
ดังนั้นในยุคปัจจุบันการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ทุเรียน” ให้กับเกษตรกรโดยใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ช่วยลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และต่อยอดเป็นธุรกิจให้กับเกษตรกร จึงมีความสำคัญอย่างมาก การอบรมให้ความรู้ครั้งนี้เริ่มตั้งแต่ การเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการผสมเกสรในแปลงปลูกทุเรียน ไปจึงถึงการขายการแปรรูปผลผลิต คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการดำเนินงานโครงกรดังกล่าวได้มุ่งเน้นในพืชหลักของไทยใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัดเลย ภาคเหนือเป็นกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชร และภาคได้เป็นทุเรียนของจังหวัดชุมพร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งพื้นที่ภาคใต้แก่ทุเรียนเป็นอัตลักษณ์ของ จ.ชุมพร
ด้านนายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผวจ.ชุมพร กล่าวว่าจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นอันดับ 2 แต่มีผลผลิตรวมมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เพราะมีผลผลิตจำหน่ายตลอดทั้งปี ไม่ใช่เป็นทุเรียนเฉพาะตามฤดูกาลเท่านั้น เพราะปัจจุบันเกษตรกรได้ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วยในการทำเกษตร นอกจากนั้น จ.ชุมพร ยังเป็นตลาดกลางศูนย์รวมขายส่งทุเรียนของภาคใต้และใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย ในปี 2558 จ.ชุมพรมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด 170,000 ตัน รวมมูลค่า 6,000-7,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2562 นี้ ประมาณการว่าจะมีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นมากถึง 240,000 ตัน มีรวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่งออกต่างประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์ บริโภคภายในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ และมีการนำทุเรียนมาแปรรูปทั้งขนมและอาหาร ดังนั้นในยุคปัจจุบันการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงมีความจำเป็นต่อเกษตรกรอย่างมาก.