“ดอยคำ”โครงการพระราชดำริ ร.9 รับซื้อมังคุดชุมพร กว่า 160 ตัน แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำช่วยเกษตรกรขายสูงขึ้น
สตอรี่ทราเวลกรุ๊ป (กดอ่านรายละเอียด)
จากกรณี บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้เปิดจุดรับซื้อมังคุด ที่จังหวัดชุมพร บรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนมังคุด ภายหลังจากประสบปัญหาราคามังคุดตกต่ำ ซึ่งหลังจาก ดอยคำ เข้าช่วยเหลือโดยเปิดจุดรับซื้อ 2 แหล่ง ที่อำเภอหลังสวน และ อำเภอพะโต๊ะ ทำให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มมังคุดคุณภาพ ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 60 ของเกษตรกรชาวสวนมังคุดใน จ.ชุมพร ได้มีที่จำหน่ายมังคุด และทำให้ราคามังคุดที่พ่อค้ารับซื้อขยับตัวสูงขึ้นจากเดิมที่ขายพ่อค้ารับซื้อทั่วไป มังคุดคละ กก.ละ 8–12 บาท ราคาสูงขึ้นราคา กก. 10-15 บาท ขณะที่บริษัทดอยคำเข้ามารับซื้อมังคุดคละ กก.ละ 18 – 19 บาท และมังคุดลูกจิ๋วลูกดำ ราคา 6-8 บาท ที่ผ่านมารับซื้อแล้วทั้งสิ้น 163.16 ตัน แยกเป็นจุดอำเภอหลังสวน จำนวน 86.57 ตัน จุดอำเภอพะโต๊ะ จำนวน 76.59 ตัน
นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ฯเป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร.9 ที่ทรงตั้งขึ้นเพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร มาแปรรูปผ่านโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าตรา “ดอยคำ” สืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดอยคำมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกษตรกรไทย โดยครั้งนี้ได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุด จ.ชุมพร ตั้งจุดรับซื้อมังคุดมาตั้งแต่วันที่ 9-21 สิงหาคม 2562 เพื่อนำไปจำหน่าย กระจายผลผลิตมังคุด พร้อมกับแปรรูปเป็นน้ำมังคุดสกัดเข้มข้น ดอยคำ และน้ำมังคุด 100% คอยคำ ให้กับผู้บริโภค เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ
นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผวจ.ชุมพร เปิดเผยว่าจังหวัดชุมพร เป็นแหล่งผลิตและแหล่งรวบรวมผลไม้ที่สำคัญของภาคใต้ ในฤดูการผลิตปี 2562 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 296,243 ตัน แบ่งเป็นทุเรียน 241,354 ตัน มังคุด 48,444 ตัน เงาะ 909 ตัน และลองกอง 5,536 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง ตุลาคม 2562 และโดยเฉพาะผลผลิตมังคุดออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่อากาศแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตออกมากมีผลเล็ก มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ส่งผลต่อราคาต่อเกษตรกรชาวสวนมังคุดของ จ.ชุมพร
นอกจากนี้ จ.ชุมพร ได้จัดตั้งศูนย์กระจายมังคุด บูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยกระจายมังคุด ไปยังผู้บริโภคจังหวัดปลายทางจำหน่ายผ่านช่องทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัด โดยกรมการค้าภายใน และหอการค้า จ.ชุมพร เครือข่ายสหกรณ์ ธนาคาร ธกส. ช่องทาง Online และช่องทางประมูลปกติ ของเครือข่ายมังคุดคุณภาพ จำนวน 20 กลุ่มอีกด้วย.