“ลุงสมยศ ป้าดวงใจ”ผู้สืบทอดอาชีพดั้งเดิมแต่โบราณ“น้ำตาลปี๊บ”แห่งอำเภอสวี เคี้ยวสดๆจากน้ำหวานเกสรมะพร้าว 100 % ตลาดต้องการจนผลิตไม่ทัน หวั่นคนรุ่นใหม่ไม่สนใจอนาคตอาชีพนี้อาจสูญหาย
สตอรี่ทราเวลกรุ๊ป (กดอ่านรายละเอียด)

“ลุงสมยศ ป้าดวงใจ” สองสามีภรรยาแห่งอำเภอสวี จ.ชุมพร ผู้สืบทอดอาชีพดั้งเดิมมาแต่โบราณนำน้ำหวานจากเกสรมะพร้าวมาแปรรูปทำด้วยมือจนกลายเป็น “น้ำตาลปี๊บ” ส่งขายจนมีรายได้งาม ซึ่งหาดูได้ยากในยุคสมัยปัจจุบัน และอีกไม่นานอาชีพนี้อาจหายไปจากประเทศไทย เพราะไม่มีลูกหลานคนรุ่นใหม่มาต่อยอดสืบทอดทำอาชีพนี้อีกต่อไปแล้ว

ทุกๆตอนเช้า นายสมยศ รอดมี อายุ 58 ปี และนางดวงใจ รอดมี อายุ 62 ปี สองสามีภรรยาอยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 5 ตำบลท่าหิน อ.สวี จ.ชุมพร จะช่วยกันเก็บน้ำหวานที่ได้จากน้ำของช่อเกสรดอกมะพร้าวหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “งวง” หรือ “จั่น” โดยคุณลุงสมยศจะใช้ลำต้นไม้ไผ่ทำเป็นบันได หรือที่คนใต้เรียกว่า “โองไม้ไผ่” สำหรับปีนขึ้นไปบนยอดมะพร้าวเพื่อเก็บกระบอกที่ใช้รองรับน้ำหวานจากงวงหรือจั่นซึ่งเป็นเกสรดอกมะพร้าวที่หยดลงมาเกือบเต็มกระบอกเพื่อนำลงมาแปรรูปเป็น “น้ำตาลมะพร้าว” หรือ “น้ำตาลปี๊บ”

จากนั้นช่วงเย็นก็จะขึ้นไปบนยอดมะพร้าวอีกรอบ เพื่อใช้มีดปาดปลายงวงหรือจั่นเกสรแล้วเอากระบอกมัดไว้กับจั่นเพื่อรองรับน้ำหวานแล้วรุ่งเช้าก็จะปืนขึ้นไปบนยอดมะพร้าวทำวนเวียนแบบเดิมเป็นประจำทุกๆวัน ๆ ละประมาณ 25 ต้น ตามกำลังที่สองสามีภรรยาจะทำได้ ซึ่งในแต่ละวันคุณลุงสมยศจะเก็บน้ำหวานได้ประมาณ 40 ลิตร

สำหรับขั้นตอนในการทำน้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลปีบก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก โดยขั้นตอนแรกเอาน้ำหวานจากเกสรมะพร้าวที่กรองแล้วใส่ลงในกระทะบนเตาถ่านขนาดใหญ่ที่ทำขึ้นมาเองสามารถวางกระทะเรียงกันได้ 3 ใบ ใช้เคี้ยวน้ำตาลได้พร้อมๆกัน ใช้ไม้ฟืนและเปลือกมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิงทำความร้อน รอจนกระทั่งน้ำหวานในกระทะเริ่มเดือด จากนั้นจะเอาอุปกรณ์ทรงกลมเป็นสแตนเลสทนความร้อน สูงประมาณ 50 เซนติเมตร มาวางครอบลงบนกระทะที่เคี้ยวน้ำหวานมะพร้าว แล้วนำตะแกรงสานด้วยไม้ไผ่ทรงกลมสูงพอประมาณ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครอม” ใส่ครอบไว้ในสแตนเลสอีกชั้น เพื่อป้องกันน้ำหวานเมื่อถูกความร้อนแล้วจะเดือดจนเกิดเป็นฟองขึ้นสูงไม่ให้ล้นออกมานอกระทะ

เมื่อเคี้ยวน้ำหวานเกสรมะพร้าวเหนียวข้นใกล้เป็นน้ำตาล จากนั้นเอาน้ำหวานที่เคี้ยวพร้อมกันจากในกระทะที่ 2 และกระทะที่ 3 มาเทรวมไว้ในกระทะที่ 1 เพื่อให้อยู่ในกระทะเดียวกัน ใช้เวลาเคี้ยวอีกประมาณ 2 ชั่วโมง จนน้ำหวานมะพร้าวเหนียวข้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม จากนั้นยกกระทะลงจากเตาแล้วนำมาวางด้านล่างเพื่อใช้เครื่องกลใบพัดหมุนตีซึ่งลุงสมยศประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเองปั่นตีจนน้ำตาลเหนียวและเริ่มแห้งซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากเดิมสมัยโบราณจะต้องใช้ไม้พายช่วยกันคนนานหลายชั่วโมง จากนั้นก็ตักน้ำตาลใส่ปีบไว้ตักช่างกิโลส่งขายให้ลูกค้าที่สั่งจองกันเข้ามาจำนวนมาก ทั้งหมดเป็นขั้นตอนการผลิตน้ำตาลจากน้ำหวานเกสรมะพร้าวจนกลายเป็น”น้ำตาลปี๊บ” ตามที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานกัน

ลุงสมยศ รอดมี วัย 58 ปี เปิดเผยว่าตนเองประกอบอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลปี๊บขายมานานกว่า 21 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสวนผสมปลูกปาล์มน้ำมันกับมะพร้าว จำนวน 15 ไร่ ใช้มะพร้าวจำนวน 25 ต้น สำหรับทำน้ำตาลมะพร้าว เพราะตนและภรรยามีกำลังทำได้เพียงวันละเท่านี้ หากคิดเฉลี่ยน้ำตาลมะพร้าวจำนวน 5 ลิตร ก็จะได้น้ำตาลปีบ 1 กิโลกรัม แต่ละวันตนเก็บเกี่ยวน้ำตาลมะพร้าวได้ประมาณ 40 ลิตร แล้วจะเก็บน้ำหวานสะสมไว้เป็นเวลา 3 วัน เพื่อรวมกันให้ได้ 120 ลิตร แล้วนำมาเคี้ยวทำเป็นน้ำตาลปีบขายได้ 24 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งจะเป็นน้ำตาลมะพร้าว 100 % ไม่มีส่วนผสมใดๆทั้งสิ้น ปัจจุบันผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่ตนมีกำลังทำได้เพียงเท่านี้

คุณลุงสมยศยังกล่าวว่าปัจจุบันนี้อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลปี๊บจะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ด้วยพื้นที่ปลูกมะพร้าวส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นโรงงาน อาคารพาณิชย์ และปลูกพืชเศรษฐกิจเช่นทุเรียน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ส่งผลให้พื้นที่ในการปลูกมะพร้าวน้อยลงอย่างมาก และอีกทั้งคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจในการสืบทอดอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวอีกแล้ว จึงนับวันที่อาชีพนี้จะสูญหายไป
หากใครสนใจในการทำน้ำตาลมะพร้าวสามารถติดต่อคุณลุงสมยศและคุณป้าดวงใจได้ที่เบอร์ 065-3541213








