ฐานชุมพร เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม

“ชาวนาบางลึก”อาชีพหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินที่ไร้ลูกหลานสืบทอดกำลังจะหายไปจากจังหวัดชุมพร

วิถีชีวิต“ชาวนาชุมชนบางลึก”อาชีพหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ที่ไร้ลูกหลานสืบทอดกำลังจะหายไปจากจังหวัดชุมพร


สตอรี่ทราเวลกรุ๊ป (กดอ่านรายละเอียด)

สตอรี่ทราเวลกรุ๊ป (กดอ่านรายละเอียด)

จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จ.ชุมพร พบว่าจังหวัดชุมพรปัจจุบันอาชีพทำนาเริ่มจางหายไปเกือบหมดแล้ว จากอดีตที่มีชาวบ้านทำนามากกว่า 1 หมื่นไร่ แต่ปัจจุบันลดน้อยลงเหลืออยู่กว่า 2 พันไร่เท่านั้น เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกแปรสภาพเปลี่ยนไปเป็นหมู่บ้านจัดสรร ที่อยู่อาศัย พื้นที่อุตสาหกรรม และทำการเกษตรที่ให้ราคาสูงเพราะลงทุนปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ระยะยาวชั่วลูกหลาน อย่างเช่นปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน มะพร้าว  ประกอบกับยุคสมัยเปลี่ยนไปจึงทำให้เด็กยุคใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับอาชีพการทำนา “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” ตามพ่อแม่และบรรพบุรุษเหมือนในอดีตอีกแล้ว

พื้นที่ตำบลบางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร จากอดีตจนถึงปัจจุบันถือเป็นพื้นที่มีการทำนามากที่สุดในจังหวัด และยังมีการสืบทอดทำนาให้เห็นมาจนถึงวันนี้ ซึ่งทุกๆปีเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูการทำนาจะมีชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มหนึ่งออกมาร่วมแรงร่วมมือร่วมใจกันปักดำกล้าข้าวลงในผืนแปลงนาท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปรายลงมาตามฤดูกาล เป็นภาพที่ใครเห็นแล้วจะต้องนึกย้อนอดีตไปในยุคของปู่ย่าตายาย

นายสมบูรณ์ แดงสกล อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ 10 ตำบลบางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร หนึ่งในผู้สืบทอดยึดอาชีพการทำนาเปิดเผยว่าตนเองทำนาปีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นการทำนาตามฤดูกาลในช่วงฤดูฝนปีละ 1 ครั้ง ในผืนนาของตนกว่า 1 ไร่ เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวก็จะเก็บเอาข้าวเปลือกส่วนหนึ่งไว้ในยุ้งฉางเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ส่วนหนึ่งก็จะไปขายเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย การทำนาของตนเองยังยึดถือแบบประเพณีที่มีมาแต่โบราณ โดยใช้วิธีลงแขกเอาแรงหมุนเวียนกันในกลุ่มอาชีพคนทำนา ตั้งแต่ขั้นตอนการถอนต้นกล้าพันธุ์ ปักดำ และเก็บเกี่ยว โดยไม่ต้องจ้างแรงงาน เพราะประเพณีการลงแขกจะเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในสังคมเกษตรกรรมที่เป็นประเพณีมาแต่โบราณ เจ้าของนาเพียงเลี้ยงข้าวปลาอาหารเท่านั้น จึงทำให้เกิดความใกล้ชิด ความรักสามัคคี มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในชุมชน

นายสมบูรณ์กล่าวต่อว่าอาชีพการลงแขกดำนาใน จ.ชุมพร ปัจจุบันนี้ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ตำบลบางลึกเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เป็นวีถีชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิม ในอนาคตตนเป็นห่วงว่าอาชีพการทำนาใน จ.ชุมพร จะหายไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่คิดที่จะสืบทอดอาชีพทำนาอีกต่อไป และคนรุ่นใหม่จะไม่รู้จักอาชีพการทำนำแบบดั้งเดิมที่ถูกขนานนามว่า “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” อีกต่อไป

ขณะที่ นางสาวภรณ์ไพลิน คุณวุฒิ อายุ 31 ปี เปิดเผยว่าตนขับรถยนต์ผ่านถนนเส้นนี้ประจำเมื่อเห็นมีการลงแขกดำนาจะต้องจอดรถลงมาถ่ายรูปเก็บไว้แล้วนำไปโพสต์ลงในเพจท่องเที่ยวเพื่อให้เพื่อนๆและคนทั่วไปได้เห็น เพราะภาพที่ชาวบ้านลงแขกถอนต้นกล้าในแปลงเพาะพันธุ์แล้วนำมาปักดำลงในแปลงนาช่วยกันคนละไม้ละมือเป็นแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมถือเป็นภาพที่หาดูได้ยากมากในยุคปัจจุบัน ต้องขอขอบพระคุณ คุณลุงคุณป้า ที่ยังสืบทอดอาชีพทำนาไว้ให้ลูกหลานได้ดูกัน

ปัจจุบันตำบลบางลึกถือเป็นผืนนาแปลงสุดท้ายของ จ.ชุมพร ที่ยังมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในชุมชนยึดอาชีพทำนาปลูกข้าวแบบประเพณีวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งถือได้ว่าอาจจะเป็นคนเก่ารุ่นสุดท้ายที่ยึดอาชีพทำนาในลักษณะนี้ ถ้าหากยังไม่มีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มารับช่วงสืบทอดต่อไป.