โวยก่อสร้างสะพานอาคารบริการนักท่องเที่ยวเกาะพิทักษ์เกือบ 30 ล้าน หมดสัญญาจ้างกว่า 1 ปี ได้แค่เสาเข็มถูกปล่อยทิ้งร้างไร้ผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหา ทำนักท่องเที่ยวหาย โครงการต่อเนื่องหยุดชะงัก ชาวบ้านขาดรายได้
วันที่ 17 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชุมชนเกาะพิทักษ์หมู่ที่ 14 ตำบลบางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อตรวจสอบกรณีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวร้องเรียนการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือพร้อมอาคารบริการนักท่องเที่ยวที่ก่อสร้างจากงบประมาณพัฒนาจังหวัดชุมพร มูลค่าเกือบ 30 ล้านบาท การก่อสร้างสิ้นสุดสัญญาไปแล้วกว่า 1 ปี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ได้ส่งผลกระทบกับชาวบ้านและนักท่องเที่ยวอย่างมาก
โดยเกาะพิทักษ์อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 14 ตำบลบางน้ำจืด อยู่ห่างจากฝั่งเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น การก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวได้สร้างทั้งบนเกาะและชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ จากการตรวจสอบพบว่าจุดก่อสร้างบนชายฝั่งอยู่ที่บริเวณชายหาดเขตพื้นที่ของหมู่ 13 ตำบลบางน้ำจืด มีป้ายโครงการระบุหน่วยงานเจ้าของโครงการว่า “จังหวัดชุมพร ศาลากลางจังหวัดชุมพร ตำบลนาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร งานก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือขนาดเล็กบนฝั่ง ท่าเทียบเรือขนาดเล็กบนเกาะพิทักษ์ พร้อมระบบประปาและอาคารบริการนักท่องเที่ยว ผู้รับจ้าง บริษัท ฟอร์ คอน จำกัด เลขที่ 45/6 หมู่ที่ 3 ตำบลบางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ระยะเวลาเริ่มต้นสัญญา 28 มีนาคม 2561 สิ้นสุดสัญญา 21 มกราคม 2562 ค่าก่อสร้าง 28,298,000 บาท ก่อสร้างด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน ”
ทั้งนี้การก่อสร้างได้สิ้นสุดสัญญาไปแล้วกว่า 1 ปี แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างทั้งบนฝั่งและบนเกาะพิทักษ์ มูลค่าเกือบ 30 ล้านบาท มีเพียงเสาเข็ม และคานปูน ที่เพิ่งจะก่อสร้างไปได้ราว 20-25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยผู้รับเหมาได้หยุดก่อสร้างปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 1 ปี ขณะที่นักท่องเที่ยวและชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา ยังต้องเดินลุยน้ำทะเลขึ้นเรือรับจ้างข้ามไปมาระหว่างเกาะและบนฝั่งยังไม่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องลงไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าโครงการของหน่วยงานรัฐดังกล่าวไม่ได้เข้ามาส่งเสริมแต่กลับทำลายส่งผลกระทบต่อภาพพจน์การท่องเที่ยวอย่างมาก
สำหรับ “เกาะพิทักษ์” เป็นชุมชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ ดำน้ำชมปะการังน้ำตื้น เป็นเกาะธรรมชาติที่สวยงาม มีชื่อเสียงระดับประเทศและต่างประเทศ ช่วงกลางเดือนมิถุนายนของทุกปี น้ำทะเลลดลงเหลือเพียงฝ่าเท้าสามารถเดินไปมาระหว่างเกาะกับฝั่งได้ จึงมีการจัดกิจกรรมประจำปี “วิ่งแหวกทะเล” จากฝั่งไปยังเกาะพิทักษ์ ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเกือบ 20 ปีแล้ว จนกลายเป็นกิจกรรมโด่งดังที่รู้จักไปทั่วโลก
ด้าน นายอำพล ธานีครุฑ หรือ “ผู้ใหญ่หรั่ง” ผู้ใหญ่บ้านเกาะพิทักษ์ กล่าวว่าการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือพร้อมอาคารดังกล่าวนั้น ผู้รับเหมาได้ทิ้งงานมานานกว่า 1 ปีแล้วได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนในการประกอบอาชีพและการท่องเที่ยวอย่างมาก นักท่องเที่ยวที่เคยมาบนเกาะแห่งนี้ปีละ 6-7 หมื่นคน แต่หลังจากมีการก่อสร้างสะพานปล่อยทิ้งร้าง กลับมีนักท่องเที่ยวมาไม่ถึง 2 พันคน เนื่องจากการเดินทางขึ้นลงบนเกาะจะต้องเดินลุยน้ำทะเลไปขึ้นเรือโดยสารทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมายทั้งการขนย้ายสัมภาระ การเกิดอุบัติเหตุระหว่างขึ้นลงเรือ ขณะที่อาชีพวิถีชีวิตชาวบ้าน เด็กๆ นักเรียน นักศึกษา ก็ประสบปัญหาดังกล่าวอย่างมากเช่นกัน
“ จากเดิมนั้นบนฝั่งมีสะพานท่าเทียบเรือไม้เคี่ยม ส่วนบนเกาะเป็นสะพานคอนกรีต ต่อมาเมื่อทางจังหวัดมีโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือและอาคารบริการนักท่องเที่ยว ก็ได้รื้อสะพานเก่าทั้ง 2 แห่งทิ้งไป รวมทั้งอาคารสินค้าโอทอปและห้องประชุมบนเกาะที่ตั้งอยู่บริเวณหัวสะพานเดิมถูกรื้อทิ้งไปทั้งหมดทำให้ปัจจุบันชุมชนต้องขาดรายได้ขาดโอกาศ นอกจากนั้นยังได้ส่งผลกระทบต่อโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เกาะพิทักษ์ โครงการพัฒนาต่อเนื่องอื่นๆท่ต้องหยุดชะงักไปด้วย เพราะไม่มีสะพานท่าเทียบเรือทำการขนย้ายสิ่งของ วัสดุภัณฑ์ต่างๆ ตนจึงขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้อลงมาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่ปล่อยให้ทิ้งร้างไว้อย่างนี้ “ ผู้ใหญ่หรั่งกล่าว.