ฐานชุมพร อาชญากรรม เศรษฐกิจ การเมือง ต่างประเทศ

ลุงท้อมากตกงานจนจริงเหลือข้าวสารหุงมื้อเดียวอดเงินเยียวยา

ลุงท้อมาก อาชีพหาหอยขาย รับจ้างทั่วไป เหลือข้าวสารกรอกหม้อมื้อสุดท้าย ตกงานนาน 3 เดือน ไม่มีเงินซื้อต้องกินข้าวกับปลาเค็ม ลงทะเบียน “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ขอรับเยียวยาผลกระทบโควิต-19 เกือบ 10 ครั้งไม่ผ่าน

วันที่ 11 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่หมู่บ้านหาดผาแดงพบกับ นายวิฑูรย์ จุลศักดิ์ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 23/2 หมู่ 1 ตำบลหาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร มีอาชีพหาหอยทะเลขายและรับจ้างทั่วไป มีฐานะยากจนต้องรับผิดชอบครอบครัวลูกหลานอีก 4 ชีวิต ลูกชายคนโตพิการทางสมอง ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ทำให้ไม่มีงานทำเนื่องจากแม่ค้าและผู้ประกอบการร้านค้าที่เคยรับซื้อหอยและเคยจ้างงานต้องปิดกิจการทั้งหมด โดยนายวิฑูรย์ได้นำผู้สื่อข่าวเข้าไปในครัวพร้อมกับหยิบถังใส่ข้าวสารให้ดูว่าครอบครัวตนเองเหลือข้าวสารกรอกหม้อให้หุงกินเพียงมื้อสุดท้ายเท่านั้น ส่วนกับข้าวมีเพียงปลาเค็มเท่นั้นเพราะไม่มีเงินซื้อ

นายวิฑูรย์ จุลศักดิ์ อายุ 52 ปี กล่าวว่าตกงานมานาน 3 เดือนแล้ว เนื่องจากตนมีอาชีพหาหอยขมทะเล หอยจอก หอยลาย ตามชายฝั่งส่งขายให้กับร้านอาหารและแม่ค้าในตลาดและรับจ้างทั่วไป หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ร้านอาหารต้องปิด แม่ค้าไม่รับซื้อหอย ไม่มีเจ้าของกิจการมาจ้างงาน ทำให้ตนตกงานมา 3 เดือนแล้ว วันนี้ตนเหลือข้าวสารกรอกหม้อมื้อสุดท้ายเท่านั้นส่วนกับข้าวก็มีแต่ปลาเค็มอย่างเดียว ไข่และกับข้าวอื่นๆไม่มีเลยเพราะตนไม่มีเงินซื้ออีกแล้ว จะไปขอยืมใครในหมู่บ้านก็ไม่ได้ เนื่องจากทุกคนเดือดร้อนเหมือนกันหมด ครอบครัวตนอยู่กันมีลูกและหลาน 4 คน ลูกชายคนโตพิการทางสมองมานานหลายปีแล้ว ส่วนภรรยารับจ้างทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯตอนนี้ตกงานเหมือนกันและกลับมาบ้านที่ชุมพรไม่ได้เพราะอยู่พื้นที่เสี่ยงถูกกักตัวไม่ให้กลับมา

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่าหลังรัฐบาลประกาศช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ตนก็ให้ลูกหลายช่วยกรอกข้อมูลลงทะเบียนทางออนไลน์ ระบุอาชีพหาหอยขายให้กับร้านอาหารและอาชีพรับจ้างทั่วไปตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ลงทะเบียนเกือบ 10 ครั้งแล้วก็ยังได้รับคำตอบแบบเดิมคือ “แจ้งผลการลงทะเบียนมาตรการชดเชยรายได้เราไม่ทิ้งกันไม่สำเร็จ เนื่องจากข้อมูลตามบัตรประชาชนที่ท่านระบุไม่ถูกต้อง” ตนก็งงว่าไม่ถูกต้องอย่างไร

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ตนขอฝากถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลขอให้ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่ กำนัน และหน่วยงานเกี่ยวข้องลงมาสำรวจในพื้นที่ว่าบ้านหลังใดมีอาชีพอะไรได้รับผลกระทบจริงหรือไม่อย่างไร หรือจะมอบให้ครอบครัวละ 5,000 บาทก็ได้จะได้ทั่วถึง  เพราะบางครอบครัวมีหลายคนกลับได้รับเงินชดเชยกันครบทุกคน ไม่ใช่ใช้วิธีสุ่มเลือกจากคนลงทะเบียนทางออนไลน์โดยไม่รู้ความจริงจนมีปัญหาอยู่ในขณะนี้.