ฐานชุมพร อาชญากรรม เศรษฐกิจ การเมือง ต่างประเทศ

ท่าแซะคุมเข้มเข้าออกชายแดนไทย-เมียนมาป้องกันโควิด-19

ชายแดนชุมพร-เมียนมา คุมเข้มคนไทย-ไทยพลัดถิ่น เข้าออกทำสวน 2 ประเทศ หวั่นนำเชื้อโควิด-19 เข้าพื้นที่

จังหวัดชุมพร มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ในพื้นที่ 2 ตำบลคือ ตำบลรับร่อ ตำบลสองพี่น้อง อ.ท่าแซะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร ตชด. มีการประชุมวางมาตรการพรอมตั้งด่านตรวจเข้มเพื่อไม่ให้มีคนไทยพลัดถิ่น ชาวเมียนมา ลักลอบเข้าออกตามช่องธรรมบชาติ หลังประเทศเมียนมา มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 มีชาวบ้านติดเชื้อแล้วจำนวนมาก

นายชาญณรงค์ เสนเผือก กำนันตำบลสองพี่สอง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เปิดเผยว่าตามที่ทางผู้ราชการจังหวัดชุมพรได้มีหนังสือแจ้งให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของพื้นที่ที่ติดต่อกับชายแดนของประเทศเมียนมา หรือมีช่องทางผ่านแดนที่เป็นช่องทางธรรมชาติ ให้ระมัดระวังป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเดินทางเข้ามาของบุคคลจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งพื้นที่อำเภอท่าแซะ มีอยู่ 2 ตำบลคือตำบลบร่อ และ ตำบลสองพี่น้อง มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา จากเขตรอยต่อระหว่าง จ.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และ จ.ชุมพร-ระนอง  ระยะทางยาวกว่า 54 กิโลเมตร

นายชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ซึ่งหลังจากที่ได้ร่วมประชุมหารือกันพบว่า ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าว ที่ใบอนุญาตขาด และมีการผ่อนปรนให้อยู่ได้ และมีบางส่วนได้เดินทางกลับภูมิลำเนาไป และบางส่วนก็เดินทางกลับเข้ามา ทำให้ยอดแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกับจัดหางานไม่นิ่ง ซึ่งก็ได้ให้ทุกหมู่สำรวจกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่พร้อมคัดกรองเป็นรายบุคคลเพื่อนำมาจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งหากมีบุคคลหนึ่งบุคคลใด ไม่ว่านายจ้างหรือแรงงานต่างด้าว ไม่ตรงกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนกับจัดหางาน ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

นายชาญณรงค์กล่าวว่าในส่วนการป้องกันการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายตามเส้นทางธรรมชาตินั้นไม่น่าเป็นห่วงเพราะเส้นทางธรรมชาติ จำนวน 4 เส้นทาง ไม่พบการใช้เส้นทางมากว่า 3-4 ปีแล้ว อีกทั้งแต่ละเส้นทางก็มีตำรวจตระเวนชายแดนและหน่วยทหาร ออกลาดตระเวน อยู่เป็นประจำ ส่วนที่จะลัดเลาะไปตามป่า ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้เนื่องจากพื้นที่รอยต่อตะเข็มชายแดนเป็นป่าทึบมาก และยังต้องเดินข้ามภูเขา 7 – 9 ลำห้วย และต้องใช้เวลาเดินเท้าไม่ต่ำกว่า 3-4 วัน นอกจากนี้ชาวบ้านคนไทยที่อยู่ตามสวนตามเส้นทางธรรมชาติ ก็พร้อมเป็นตาสับปะรดให้อีกด้วย จึงแทบไม่มีช่องทางไหนเลยที่จะหลบเข้ามาได้

นายชาญณรงค์กล่าวต่ออีกว่าแต่สิ่งที่น่าวิตกที่สุดที่จะเป็นพาหะนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาก็คือ คนไทย 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนไทยที่มีสวนปาล์ม ยาพาราอยู่ในประเทศเมียนมา ที่ต้องเดินทางเข้าออก ณ ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประจำ ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้ จะไปอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์แล้วกลับเข้ามาในพื้นที่ อ.ท่าแซะ ส่วนอีกกลุ่มคือคนไทยพลัดถิ่น ทีเข้าไปทำสวนในประเทศเมียนมาโดยจะใช้เส้นทางเดินบริเวณชายแดน เนิน 491 อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งกลุ่มนี้จะไปเช้ากลับเย็น โดยสองกลุ่มนี้จากการประชุมได้มีมติเด็ดขาดที่จะนำมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนดคือ หากจะออก-เข้า ต้องมารายงาน และจะต้องกักตัว เป็นเวลา 14 วัน หากฝ่าฝืนไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.