ครม.อนุมัติงบ 74 ล้านบาท สำรวจ ออกแบบ ทำอีไอเอ ประมาณการลงทุน’ โครงการสร้างทางรถไฟ ‘ชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง’ เปิดเส้นทางสู่ ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมโยงการขนส่งจาก 2 ฝั่งทะเล ‘อ่าวไทย-อันดามัน’ ใช้เวลาศึกษานาน 12 เดือน
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการมติอนุมัติให้กระทรวงคมนาคมก่อหนี้ผูกพันข้ามปี 2564-65 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายงานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ระยะทาง 125 กิโลเมตร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 74.71 ล้านบาท แบ่งเป็นปีงบ 2564 วงเงิน 29.88 ล้านบาท และปีงบ 2565 วงเงิน 44.82 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และใช้เวลาสำรวจ ออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง รวมถึงการประมาณค่าใช้จ่ายในการลงทุน (งานโยธาและระบบอาณัติสัญญาณ) การชดเชยค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การจัดทำเอกสารประกวดราคา และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นเวลา 12 เดือน หรือกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
สำหรับโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของการพัฒนาตามยุทธศาสตร์กรพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน พ.ศ.2562-2565 และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยยกระดับการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ระหว่างชายฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทยในลักษณะของ Land-Bridge (สะพานเศรษฐกิจ) รวมทั้งจะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Mode Shift) จากการขนส่งทางบก เป็นการขนส่งทางรางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้รัฐบาลมีแผนเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการมีโครงการใหม่ๆที่จะเพิ่มการลงทุนในไทยในระยะยาว เช่น การลงทุนเส้นทางขนส่งเชื่อม 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) รวมทั้งจะการก่อสร้างท่าเรือใหม่ด้วย ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ หลังจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมเส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 45,844 ล้านบาท.