พบกุฏิโบราณเก่าแก่วัดดอนสะท้อน สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 อายุมากกว่า 100 ปี ที่ยังคงสภาพเดิมสวยงาม คาดมีเพียงหลังเดียวในประเทศไทย
กุฏิเก่าแก่โบราณสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 อยู่ภายในวัดดอนสะท้อน หมู่ 6 ตำบลปากแพรก อ.สวี จ.ชุมพร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2486 สมัยหลวงพ่อทองพุทธะ สะวัณโณ เป็นเจ้าอาวาส เป็นกุฏิครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน เสาก่ออิฐฉาบปูนเป็นแบบย่อมุมไม้สิบสอง มีลวดลาย บัวหัวเสารับปูนปั้น เป็นบัวแปดกลีบ ราวลูกกรงลวดลายบัวปูนปั้นบน – ล่าง ลูกมะหวดปูนขนาด 4 นิ้ว เสาลูกกรงย่อมุมไม้สิบสอง มีหัวเม็ดกลม ลักษณะฝังลายกลีบบัว ช่องวงกบประตูหน้าต่าง ส่วนบนโค้งครึ่งวงกลม บานวงกบประตู -หน้าต่างเป็นแผ่นไม้ฉลุลาย
ตัวอาคารชั้นบนเป็นไม้ทั้งหมด บันไดทางขึ้นชั้นบนก่ออิฐฉาบปูน พื้นปูด้วยไม้กระดานขนาด 7×8 นิ้ว ฝาห้องทำด้วยไม้กระดานขนาด 0.75 x 6 นิ้ว ตีซ้อนเกล็ดแนวนอน ระเบียงด้านหน้ามีลูกกรงไม้กลึงโดยรอบ ประตูหน้าต่างเป็นลูกฟักไม้ ประกอบลวดบัว ช่องลมรอบอาคารทั้งหมดเป็นแผ่นไม้ฉลุลาย หัวเสาระเบียงด้านหน้ามีไม้ฉลุประดับ หลังคาทรงปั้นหยาโครงสร้างไม้เนื้อแข็ง เพดานเป็นแผ่นไม้ขนาด 0.5x 6 นิ้ว ซึ่งสิ่งปลูกสร้างทุกอย่างยังคงสภาพดังเดิม ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
ส่วนหลังคาเดิมนั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผา แต่เพราะด้วยความทรุดโทรมตามกาลเวลา ได้รื้อลงมาและเปลี่ยนใหม่เป็นกระเบื้องคล้ายกระเบื้องว่าวในสมัยโบราณทรงหยดน้ำ
ปัจจุบันนี้กุฏิหลังนี้ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักการโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช และเป็นผู้ดูแลซ่อมแซมทั้งสิ้น ประกาศขึ้นทะเบียนประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอน 80 ง. วันที่ 12 กันยายน 2540
นอกจากกุฏิโบราณแล้ว วิหารศาลาการเปรียญก็เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความเก่าแก่ ไม่น้อยไปกว่ากุฏิ โดยวิหารศาลาการเปรียญหลังนี้ พื้นจะเทด้วยปูนซีเมนต์ขัดมันฐานอาคารก่ออิฐฉาบปูนไม่มีบัวฐาน มีเส้นลวดประดับทางขึ้นด้านหน้า ด้านซ้ายเป็นสิงห์ ด้านขวาเป็นเสือลายพาดกลอน เสาอาคารฉาบปูนประดับบัวหัวเสา ราวลูกกรงลวดบัวลูกมะหวดแบน เสารางลูกกรงมีหัวเม็ด หลังคาทรงไทย โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หัวนาค สันหลังคาชุด ล่างประดับใบระกาและปูนปั้นรูปครุฑ ผ้าไขราไม้ ฝ้าเพดานช่องในไม้ 1×8 นิ้ว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2473
พระปลัดประมวล ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดดอนสะท้อน เปิดเผยว่า ในยุคสมัยนั้น หลวงพ่อทองพุทธะ สะวัณโณ เป็นเจ้าอาวาส ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อทอง” วิชาอาคมสามารถปราบจระเข้ดุร้ายได้เพราะสมัยก่อนบริเวณแม่น้ำสวี จระเข้ชุกชุมมาก ส่วนของกุฏิหลังนี้ได้สร้างขึ้นในช่วงสมัยที่กำลังมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ นายช่างที่สร้างทางรถไฟเมื่อสร้างผ่านมาถึงอำเภอสวี ได้เกิดมีความศรัทธาต่อหลวงพ่อทอง จึงได้นำแบบแปลนมาจากกรุงเทพและมาช่วยกันสร้างกุฏิหลังดังกล่าวขึ้นในช่วงยุครัตนโกสินทร์ตอนกลาง สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งกุฏิหลังนี้ด้านบนจะมีห้องเล็ก 1 ห้อง และ ห้องสำหรับจำวัด (ห้องนอน) ของหลวงพ่อทอง 1 ห้อง พร้อมห้องโถงใหญ่ 1 ห้อง ซึ่งกุฏิหลังนี้ยังคงรักษาสภาพความเก่าแก่ความโบราณไว้ได้เป็นอย่างดี แม้จะมีการซ่อมแซมไปบ้างก็ตาม
เจ้าอาวาสวัดดอนสะท้อน กล่าวว่าตั้งแต่อาตมาได้มาอยู่ที่วัดแห่งนี้ได้ประมาณ 9 ปี ก็ได้พยายามที่จะอนุรักษ์ดูแลรักษา ความเก่าแก่ของวัดแห่งนี้ไว้ให้ยังคงสภาพเดิมให้มากที่สุด โดยเฉพาะกุฏิสมัยรัชกาลที่ 5 หลังนี้มีอายุเก่าแก่และสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดชุมพร ซึ่งอาจจะเป็นที่เดียวในประเทศไทยด้วยก็ได้ จึงอยากจะดูแลรักษาไว้ให้ลูกให้หลานได้ดูและเป็นตำนานสืบต่อไป.