ฐานชุมพร อาชญากรรม เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง ต่างประเทศ

ยายสองพี่น้องสืบทอดอาชีพทำน้ำตาลปึกน้ำหวานมะพร้าวขาย

ยายสองพี่น้องอายุ 62-64 ปี ยึดอาชีพทำน้ำตาลปึกขาย เลี้ยงปากท้อง โดยปีนขึ้นต้นมะพร้าวเองเพื่อเก็บเอาน้ำหวานจากเกสรลงมาทำน้ำตาลได้อย่างแคล่งคล่องทุกวัน

ยายสองพี่น้องสูงวัยสืบทอดอาชีพจากบรรพบุรุษปีนต้นมะพร้าวเก็บน้ำหวานจากงวงเกสรมาทำน้ำตาลปึกขาย  นางสาวลัดดา สวดตะนัง อายุ 64 ปี และ นางสาวอุไร สวดตะนัง อายุ 62 ปี สองพี่น้อง อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 147 หมู่ 7 ตำบลทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร ริมถนนสายวัดหนองหมุก-สถานีรถไฟทุ่งคา เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงเนื่องจากพื้นที่ดัง

นางสาวลัดดา สวดตะนัง วัย 64 ปี ผู้เป็นพี่สาวเปิดเผยว่าตนเองและครอบครัวซึ่งมีคุณพ่อและคุณแม่รวมถึงพี่น้องได้ย้ายมาจาก จ.สมุทรสงคราม เมื่อปี 2514 ได้มาซื้อที่ดินจำนวน 20 ไร่ อยู่ในตำบลทุ่งคาแห่งนี้เพื่อปลูกมะพร้าวน้ำหอม ไว้เก็บทำน้ำตาลมะพร้าวขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ครอบครัวตนเองมีความชำนาญที่ส่งต่อมาจากรุ่นปู่ รุ่นพ่อและสืบทอดมาถึงรุ่นตนเอง

นางสาวลัดดา เล่าว่าตนเองได้ช่วยงานพ่อแม่ทำน้ำตาลมะพร้าวมาตั้งแต่อายุ 14 ปี จนถึงปัจจุบัน จนเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาตนเองได้ปีนขึ้นต้นมะพร้าวเพื่อเก็บเอาน้ำหวานได้มีฝนตกหนัก และได้เกิดฟ้าผ่าทำให้ตนตกใจแล้วปล่อยมือพลัดตกจากต้นมะพร้าวจนร่างกระแทกพื้นแขนและขาหัก ปัจจุบันทำให้ไม่สามารถปีนขึ้นไปเก็บน้ำหวานจากต้นมะพร้าวได้อีกเลย ตอนนี้ก็เหลือแต่เพียงนางสาวอุไร สวดตะนัง อายุ 62 ปี ผุ้เป็นน้องสาว ที่ยังคอยปีนขึ้นต้นมะพร้าวเพื่อไปเก็บเอาน้ำหวานเพียงคนเดียว

“ ทุก ๆวันทั้งเช้าและเย็นน้องสาวจะปีนต้นมะพร้าวเพื่อไปเก็บและปาดงวงเกสรมะพร้าวเพื่อเอาน้ำหวานโดยใช้ภาชนะเป็นกระบอกพลาสติกใช้รองรับไว้ จากนั้นนำลงมากรองเอาน้ำหวานและคัดแยกเอาเศษขยะ แมลง ผึ้ง ที่ติดลงไปในน้ำหวานออก หลังจากนั้นก็จะเอามาต้มกับเตาฟืนเพื่อเก็บรวบรวมน้ำหวานไว้ ให้ได้ 3 วัน ก่อนเข้าสู่กระบวนการใส่กระทะเคี้ยวเพื่อทำน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก หรือน้ำตาลมะพร้าว ” นางสาวลัดดากล่าว

สำหรับขั้นตอนการทำน้ำตาลปี๊บนั้นสองพี่น้องจะช่วยกันเอาน้ำหวานที่ได้มาต้มลงในกระทะขนาดใหญ่ โดยการต้มเคี้ยวไปเรื่อย ๆใช้ระยะเวลาประมาณ 30 นาที  หากต้องการให้ได้น้ำตาลที่มีสีแดงสวยน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ก็จะต้องเอาใบมะพร้าว ที่เป็นใบสดๆมาต้มลงในกระทะ พร้อมกับน้ำหวานจะทำให้น้ำตาลที่ได้มีสีสันน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

เมื่อน้ำตาลมีความเหนียวข้นแล้วต้องยกลงมาวางด้านล่างเพื่อทำการการคนและตีน้ำตาลให้มีความเหนียวข้น จนน้ำตาลจับตัวกันแน่นและมีความเหนียว ในขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที  เมื่อน้ำตาลเริ่มจับตัวกันเป็นก้อนก็จะใช้ช้อนค่อยๆตักน้ำตาลลงมาวางบนผ้าบางที่เตรียมไว้  ซึ่งเป็นกระบวนการสุดท้ายก่อนที่จะใส่ถุงเพื่อจำหน่ายให้กับแม่ค้าที่มารับซื้อถึงที่บ้าน น้ำหวานที่เคี้ยวใน 1 กระทะจะได้น้ำตาลประมาณ 15 – 17 กิโลกรัม โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 40 บาท

นางสาวลัดดาเล่าว่าน้ำตาลมะพร้าวที่ตนเองทำนั้นจะไม่ใส่สารกันบูดใด ๆทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้การเก็บน้ำหวานจากต้นมะพร้าวจะต้องใช้เศษไม้เคี่ยมใส่ลงไปในก้นกระบอกก่อนที่จะไปรอรับน้ำหวานจากงวงเกสรบนต้นมะพร้าว ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากหากไม่ใส่เศษไม้เคียมลงไปรองก้นกระบอกจะทำให้น้ำหวานที่ได้มามีรสชาติเปรี้ยวไม่สามารถนำมาเคี้ยวทำน้ำตาลได้

สำหรับใครที่สนใจอยากเข้าไปศึกษาเรียนรู้เรื่องการทำน้ำตาลมะพร้าวนั้น หรือใครต้องการน้ำตาลมะพร้าวสูตรโบราณแท้ๆ เป็นของฝากหรือไปใช้ในครอบครัวไม่ว่าจะทำขนมทำอาหารก็สามารถติดต่อไปได้ที่เบอร์ที่สามารถติดต่อไปได้ที่ เบอร์ 098-7683760 ไม่ผิดหวังแน่นอน.