รอง ผบ.นทพ.ตรวจความพร้อมศูนย์บรรเทาสาธารณภัย พร้อมรับมือสถาณการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ขณะที่หลายหน่วยงานเร่งตรวจความพร้อมอุปกรณ์กู้ภัยตามสั่งการและนโยบายของ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส
เมื่อเวลา 09:00 น.วันที่ 8 ต.ค.64 ที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 46 สำนักงานภาค 4 กองบัญชาการกองทัพไทย ต.วัดประดู่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี พล.อ.จีรัชญ์ บุญชญา ผบ.นทพ. ได้มอบหมายให้ พล.ท.อนุสรรค์ คุ้มอักษร รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา(ฝ่ายบริหาร) พร้อม พล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 4 พ.อ.ตวงทิพย์ ติณเวท ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 46 ตรวจความพร้อมอุปกรณ์กู้ภัย และกำลังพล เพื่อเตรียมรับลมมรสุมในช่วงปลายปี ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงเหมือนในภาคกลางที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
พล.ท.อนุสรรค์ คุ้มอักษร รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา(ฝ่ายบริหาร) กล่าวว่าตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อม ในวันนี้ เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.จีรัชญ์ บุญชญา ผบ.นทพ. เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังพลยานพาหนะและยุทโธปกรณ์ เพื่อดำเนินการในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ รับผิดชอบ หรือการร้องขอของป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 46 เป็นไปตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที และไม่เกิดข้อผิดพลาดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ทางด้าน นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ออกหนังสือด่วนถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศแจ้งว่า ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก เฝ้าระวัง น้ำไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และคลื่นลมแรง ในช่วงนี้
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานีพิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง ดินถล่ม และคลื่นลมแรง
ที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย จึงขอให้อำเภอ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม และที่ลาดเชิงเขา เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศ และสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ในระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคม 2564 รวมถึงให้อุทยานทุกแห่งหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นน้ำตก ถ้ำ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดถ้าสถานการณ์วิกฤติให้ดำเนินการปิด หรือห้ามเข้าโดยเด็ดขาด
ส่วนสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคทุกสาขา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมการเดินเรืออย่างใกล้ชิด อีกทั้งให้เตรียมพร้อมทรัพยากรกู้ภัย เครื่องจักรกล แผนปฏิบัติการเผชิญเหตุ กำลังเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง